คุณจะไม่หลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ ได้ยังไง?
ทุกวันนี้มีข้อมูลข่าวสารมากมายที่คุณเข้าไปอ่านและดูได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้คุณปลอดภัยและเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ แต่พอคุณค้นไปเรื่อย ๆ คุณต้องระวังที่จะไม่รับข้อมูลผิด ๆ เช่น
ข่าวที่ทำให้เข้าใจผิด
ข้อมูลที่ไม่จริง
ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เลขาธิการสหประชาชาติเตือนให้ระวังข้อมูลที่ไม่จริงซึ่งกำลังแพร่ไปทั่ว เขาบอกว่า “มีคำแนะนำเรื่องการรักษาแบบผิด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเยอะมาก ในรายการโทรทัศน์และวิทยุก็มีเรื่องโกหก ในอินเทอร์เน็ตก็เต็มไปด้วยทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่คนคิดกันไปเอง นอกจากนั้น คนเดี๋ยวนี้ชอบพูดโจมตีหรือด่าคนที่คิดไม่เหมือนตัวเองหรือไม่ใช่พวกเดียวกัน”
ข้อมูลผิด ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไว้ว่า ในสมัยของเรา “คนชั่วและนักต้มตุ๋นจะยิ่งชั่วร้ายขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาจะหลอกลวงคนอื่นและตัวเขาเองก็จะถูกหลอกด้วย” (2 ทิโมธี 3:1, 13) และอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งทำให้เรารับและแชร์ข่าวปลอมได้ง่ายและเร็วขึ้นโดยที่เราไม่ตั้งใจเพราะคิดว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริง มือถือของเราก็เลยมีแต่ข่าวปลอมหรือข่าวจริงบ้างไม่จริงบ้างเต็มไปหมด
คุณจะไม่หลงเชื่อข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดและทฤษฎีสมคบคิดได้ยังไง? ลองดูคำแนะนำบางอย่างจากคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยเรา
อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณเห็นหรือได้ยิน
สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก: “คนขาดประสบการณ์เชื่อคำพูดทุกคำ แต่คนฉลาดคิดก่อนทำเสมอ”—สุภาษิต 14:15
ถ้าไม่ระวังเราอาจถูกหลอกได้ง่าย เช่น คนเดี๋ยวนี้ชอบส่งรูปภาพที่มีคำอธิบายหรือพวกคลิปวีดีโอสั้น ๆ ทางโซเชียลมีเดีย หลายคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่ามีม จุดประสงค์ของคนส่งก็คืออยากให้เพื่อนได้ดูรูปภาพหรือวีดีโอตลก ๆ แต่บางครั้งรูปภาพหรือวีดีโอเหล่านี้จะถูกตัดต่อแล้วเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แรกเดิม หลายคนถึงกับตัดต่อวีดีโอว่ามีคนพูดหรือทำอะไรบางอย่างทั้งที่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ทำ
“นักวิจัยพบว่าข้อมูลผิด ๆ ส่วนใหญ่บนโซเชียลมีเดียมักจะเป็นภาพหรือวีดีโอที่ตัดต่อหรือดัดแปลงจนไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น พวกมีม”—แอ็กซิออส มีเดีย
ถามตัวเองว่า: ‘ข่าวที่ฉันอ่านเป็นเรื่องจริงหรือถูกตัดต่อ?’
เช็กที่มาและเนื้อหาของข่าว
สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก: “ตรวจดูทุกสิ่งให้แน่ใจ”—1 เธสะโลนิกา 5:21
ก่อนที่คุณจะเชื่อและแชร์ข่าวสักเรื่องหนึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่หลายคนแชร์กันและเห็นตามสื่อต่าง ๆ ให้เช็กดูก่อนว่าเป็นเรื่องจริงไหม แต่คุณจะเช็กยังไง?
ดูว่าที่มา ของข่าวนั้นเชื่อถือได้ไหม สื่อต่าง ๆ และหน่วยงานบางแห่งอาจบิดเบือนเนื้อหาด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือการเมือง ให้อ่านข่าวเดียวกันนี้จากหลาย ๆ สื่อเพื่อเอามาเปรียบเทียบกัน บางครั้งเพื่อนอาจแชร์ข้อมูลผิด ๆ ให้คุณหรือโพสต์ทางโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น อย่าเชื่อจนกว่าคุณจะเช็กที่มาของข่าวนั้นก่อน
ดูเนื้อหา ของข่าวนั้นว่าเก่าไหมและเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือเปล่า ให้ดูวันที่ เช็กข้อมูล และดูว่ามีหลักฐานสนับสนุนไหม ระวังเป็นพิเศษถ้าเรื่องนั้นเสนอทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป และระวังข่าวที่ต้องการสร้างความตื่นตระหนก
“การเช็กความถูกต้องของข่าวอาจสำคัญพอ ๆ กับการล้างมือ”—ศรีดาร์ ธรรมปุริ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยและโภชนาการแห่งสหประชาชาติ
ถามตัวเองว่า: ‘ข่าวนี้เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวหรือเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นการเสนอความจริงแค่ด้านเดียว?’
ยึดข้อเท็จจริงไม่ใช่ความชอบส่วนตัว
สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก: “คนที่ไว้ใจหัวใจตัวเองเป็นคนโง่”—สุภาษิต 28:26
เรามักจะเชื่อถือข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่เราอยากเชื่อ บริษัทอินเทอร์เน็ตมักจำสิ่งที่เราเคยเข้าไปอ่านหรือค้นแล้วจะคอยส่งเรื่องคล้าย ๆ กันมาให้เราเรื่อย ๆ แต่จำไว้ว่าสิ่งที่เราอยากได้ยินไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริง
“คนเรามีความสามารถในการคิดและหาเหตุผลอยู่แล้ว แต่มักจะเอาอารมณ์และความชอบมาเป็นใหญ่ เราเลยมีแนวโน้มจะยอมรับข้อมูลที่ตรงกับใจเรา”—ปีเตอร์ ดิตโต นักจิตวิทยาสังคม
ถามตัวเองว่า: ‘ฉันเชื่อข้อมูลนี้เพราะมันตรงกับใจฉันไหม?’
หยุดแชร์เรื่องไม่จริง
สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอก: “อย่าเอาเรื่องที่ไม่เป็นความจริงไปพูดต่อ ๆ กัน”—อพยพ 23:1
จำไว้ว่าข้อมูลที่คุณแชร์ให้คนอื่นจะมีผลต่อความคิดและการกระทำของเขา ถึงคุณไม่ได้ตั้งใจให้ข้อมูลผิด ๆ แต่เขาก็อาจได้รับผลเสีย
“กฎข้อที่หนึ่งก็คือ ใจเย็น ๆ หยุดคิดสักนิดนึงว่า ‘ฉันแน่ใจแล้วไหมว่ามันเป็นเรื่องจริงที่ควรจะแชร์?’ ถ้าทุกคนทำแบบนี้มันก็จะลดข่าวปลอมได้เยอะ”—ปีเตอร์ อดัมส์ รองประธานอาวุโสแห่งโครงการ News Literacy Project
ถามตัวเองว่า: ‘ฉันแน่ใจแล้วไหมว่าเรื่องที่ฉันแชร์เป็นเรื่องจริง?’