คำแนะนำสำหรับครอบครัว | การเลี้ยงลูก
สอนลูกให้เป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน
ปัญหา
-
ลูกชายของคุณทำตัวเย่อหยิ่งอวดดีทั้ง ๆ ที่อายุแค่ 10 ขวบ!
-
เขาอยากให้ทุกคนทำกับเขาเหมือนเป็นคนพิเศษ
คุณอาจสงสัยว่า ‘ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้? ฉันอยากให้เขาเป็นเด็กมั่นใจ ไม่ใช่ให้คิดว่าเขาดีกว่าคนอื่น!’
ถ้าอย่างนั้น เป็นไปได้ไหมที่จะสอนลูกให้เป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตนโดยที่ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย?
สิ่งที่คุณควรรู้
ไม่กี่สิบปีมานี้ มีการสนับสนุนให้พ่อแม่ตามใจลูก ให้ชมลูกบ่อย ๆ แม้เขาไม่ได้ทำอะไรที่ควรได้รับคำชม และไม่ให้ดุหรือสั่งสอนลูก เพราะคิดว่าถ้าทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษ เขาก็จะโตมาเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง แต่ผลเป็นอย่างไร? หนังสือ Generation Me บอกว่า “แทนที่จะช่วยให้เด็กมีอารมณ์ที่มั่นคง มีความสุข การนิยมเลี้ยงลูกให้ภูมิใจในตัวเองกลับทำให้เด็ก ๆ รุ่นนี้กลายเป็นพวกหลงตัวเอง”
เด็กหลายคนที่โตมาโดยที่พ่อแม่เอาแต่ชมอย่างเดียวจะไม่สามารถยอมรับความผิดหวัง คำตำหนิ และความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้น จะทำให้พวกเขาคบกับใครได้ไม่นานเพราะถูกสอนให้สนใจแต่ความต้องการของตัวเอง ผลก็คือหลายคนเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า
เด็กจะมีความมั่นใจแบบที่ถูกต้องเหมาะสมได้จากความสำเร็จที่ตัวเองทำ ไม่ใช่จากการมีคนคอยบอกว่าเขาเป็นคนพิเศษ ความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าไม่ได้มาจากความมั่นใจในตัวเองเท่านั้น พวกเขาต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาทักษะต่าง ๆ อย่างดี (สุภาษิต 22:29) พวกเขาต้องคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย (1 โครินธ์ 10:24) ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน
สิ่งที่คุณทำได้
ชมลูกเมื่อเขาทำสิ่งที่ดี ถ้าลูกสาวของคุณเรียนได้เกรดดี คุณก็ควรชม แต่ถ้าได้เกรดไม่ดี ก็อย่าเพิ่งโทษครู เพราะนั่นจะไม่ช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ช่วยลูกให้รู้วิธีที่จะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป คุณควรชมเขาก็ต่อเมื่อเขาทำบางสิ่งได้ดีจริง ๆ
ตักเตือนหรือสั่งสอนเมื่อจำเป็น นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณควรดุด่าลูกทุกครั้งที่เขาทำผิด (โคโลสี 3:21) แต่หมายถึงคุณควรตักเตือนหรือสั่งสอนเมื่อเขาทำผิดพลาดในเรื่องใหญ่ ๆ รวมถึงเวลาที่เขาคิดอะไรผิด ๆ ด้วย ถ้าคุณไม่ตักเตือนสั่งสอนลูก เขาก็จะทำผิดจนชินชา
ตัวอย่างเช่น สมมุติคุณสังเกตว่าลูกชายของคุณชอบโม้ ถ้าคุณไม่ตักเตือนหรือสั่งสอน เขาก็จะกลายเป็นคนที่ภูมิใจในตัวเองมากเกินไป และคนอื่นก็จะเริ่มไม่อยากเป็นเพื่อนกับเขา ดังนั้น ให้คุณอธิบายกับลูกว่าการคุยโม้แบบนั้นจะทำให้ตัวเองดูไม่ดีและจะทำให้ตัวเองขายหน้า (สุภาษิต 27:2) นอกจากนั้น คุณควรอธิบายให้ลูกฟังว่า คนที่มั่นใจในตัวเองอย่างพอเหมาะก็จะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเก่ง ถ้าคุณตักเตือนหรือสั่งสอนลูกด้วยความรัก คุณก็กำลังช่วยเขาให้เป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตนโดยไม่ทำให้เขาเสียความนับถือตัวเอง—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: มัทธิว 23:12
เตรียมลูกให้พร้อมรับความเป็นจริง ถ้าคุณตามใจลูกตลอด เขาก็จะคิดว่าเขาต้องได้ทุกอย่างที่ต้องการ เช่น ถ้าลูกอยากได้ของที่แพงเกินไป ก็ให้บอกเขาว่าทำไมเราจำเป็นต้องประหยัด หรือถ้าคุณพาลูกไปข้างนอกหรือไปเที่ยวไม่ได้ตามที่คุยกันไว้ ก็ให้อธิบายกับลูกว่าความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต และอาจจะเล่าให้เขาฟังก็ได้ว่าคุณเองทำอย่างไรเมื่อเจอความผิดหวัง แทนที่จะปกป้องลูกไม่ให้เจอความลำบาก คุณควรเตรียมเขาให้พร้อม สำหรับปัญหาที่เขาจะเจอเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 29:21
สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน ทำให้ลูกเห็นว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” (กิจการ 20:35) คุณจะสอนลูกอย่างนั้นได้อย่างไร? คุณกับลูกอาจช่วยกันคิดและเขียนออกมาว่ามีใครบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ไปซื้อของให้ ไปรับไปส่ง หรือซ่อมแซมอะไรบางอย่าง แล้วพาลูกไปด้วยเมื่อคุณช่วยคนเหล่านั้น เพื่อลูกจะเห็นว่าคุณมีความสุขมากที่ได้ช่วยคนอื่น ถ้าคุณทำอย่างนี้ คุณก็กำลังสอนลูกให้เป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตนด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ นั่นก็คือ สอนด้วยตัวอย่างของคุณ—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: ลูกา 6:38