จากบทสู่จอ
จากบทสู่จอ
ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ฮอลลีวูดได้ผลิตภาพยนตร์เงินล้านออกมาหลายต่อหลายเรื่อง. ปรากฏการณ์นี้ทำให้ทั้งโลกสั่นสะเทือน เนื่องจากภาพยนตร์ของอเมริกาหลายเรื่องถูกนำไปเปิดตัวในต่างประเทศหลังจากฉายรอบปฐมทัศน์ในสหรัฐได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ หรือเพียงไม่กี่วันสำหรับบางเรื่อง. ภาพยนตร์บางเรื่องถูกนำออกฉายทั่วโลกในวันเดียวกันด้วยซ้ำ. “ตลาดต่างประเทศกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และคึกคักมาก” แดน เฟลล์แมน ประธานฝ่ายจัดจำหน่ายในประเทศของบริษัทวอร์เนอร์ บราเทอร์ส พิกเจอร์ส กล่าว “ดังนั้น ตอนที่เราสร้างหนัง เราคิดว่าเรากำลังสร้างเพื่อจะนำไปขายทั่วโลก.” ปัจจุบันนี้ฮอลลีวูดมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมบันเทิงตลอดทั่วโลกมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา. *
แต่การสร้างภาพยนตร์ให้ได้กำไรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่คิด. หนังหลายเรื่องต้องทำรายได้ให้สูงกว่า 100 ล้านดอลลาร์เพียงเพื่อจะคุ้มต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางการตลาด. และภาพยนตร์จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคนดูเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็คาดคะเนอะไรไม่ได้. “คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนดูในช่วงใดช่วงหนึ่งจะคิดว่าหนังแบบไหนน่าตื่นเต้นหรือน่าดูสำหรับเขา” เดวิด คุก ศาสตราจารย์ด้านวิชาการภาพยนตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอมอรีกล่าว. แล้วคนสร้างหนังทำอย่างไรเพื่อจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น? เพื่อจะได้คำตอบ ตอนแรกเราต้องเข้าใจขั้นตอนพื้นฐานในการสร้างภาพยนตร์เสียก่อน. *
พรีโพรดักชัน—การเตรียมการ
ช่วงพรีโพรดักชันหรือช่วงเตรียมการก่อนถ่ายทำ มักจะเป็นช่วงที่ยาวนานที่สุดและสำคัญที่สุดในการสร้างหนัง. การสร้างหนังก็เหมือนกับโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ คือต้องเตรียมการล่วงหน้าเพื่อจะประสบความสำเร็จ. คนทำหนังหวังว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ไปในช่วงพรีโพรดักชันจะทำให้ประหยัดเงินได้หลายเท่าในช่วงการถ่ายทำ.
การสร้างหนังจะเริ่มด้วยเค้าโครงเรื่อง ซึ่งอาจเป็นเรื่องแต่งหรืออาศัยเรื่องจริงก็ได้. นัก
เขียนจะเอาเค้าโครงเรื่องไปแต่งเป็นบทภาพยนตร์. บทภาพยนตร์อาจถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนหลายครั้งกว่าจะได้บทจริง หรือบทสำหรับถ่ายภาพยนตร์. บทภาพยนตร์นี้จะมีบทพูดของตัวละครรวมทั้งคำอธิบายสั้น ๆ ว่ามีการแสดงท่าทางอย่างไรหรือเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง. บทนี้ยังบอกรายละเอียดทางเทคนิคด้วย เช่น เรื่องมุมกล้องและการเชื่อมจากฉากหนึ่งไปอีกฉากหนึ่ง.อนึ่ง ในช่วงต้น ๆ นี้เองที่บทภาพยนตร์จะถูกเสนอขายให้ผู้อำนวยการสร้าง. * บทภาพยนตร์แบบไหนที่ผู้อำนวยการสร้างอาจจะสนใจซื้อ? หนังช่วงหน้าร้อนโดยทั่วไปมักจะเป็นเรื่องสำหรับวัยรุ่นและหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มคนดูที่นักวิจารณ์หนังคนหนึ่งเรียกว่า “ชาวป๊อปคอร์น.” ดังนั้น ผู้อำนวยการสร้างจึงอาจสนใจบทภาพยนตร์ที่เอาใจวัยรุ่น.
ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านี้ก็ต้องเป็นบทภาพยนตร์ที่น่าสนใจสำหรับคนทุกวัย. ยกตัวอย่าง หนังยอดมนุษย์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนคงทำให้เด็ก ๆ ที่รู้จักตัวละครในเรื่องอยากดู. และไม่ต้องสงสัยว่าพ่อแม่ก็จะไปดูกับลูกด้วย. แต่คนทำหนังจะเรียกคนดูที่เป็นวัยรุ่นและหนุ่มสาวได้อย่างไร? ลิซา มันดี แห่งนิตยสารเดอะ วอชิงตัน โพสต์ เขียนว่า ที่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องใส่ “เนื้อหาที่ล่อแหลม” เข้าไป. การสอดแทรกคำหยาบ, ภาพที่รุนแรง, และฉากเกี่ยวกับเรื่องเพศเข้าไปในภาพยนตร์มาก ๆ เป็นวิธีที่จะ “ทำให้หนังเรื่องนั้นได้กำไรสูงสุดเต็มศักยภาพโดยทำให้เป็นที่สนใจของคนดูทุกวัย.”
ถ้าผู้อำนวยการสร้างคิดว่าบทภาพยนตร์นั้นดูเข้าท่า เขาอาจซื้อลิขสิทธิ์และหาทางเซ็นสัญญาจ้างผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงและนักแสดงนำชื่อดังทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย. ถ้ามีทั้งผู้กำกับและดาราที่มีชื่อเสียง ผู้คนก็อยากจะเข้าไปดูกันมาก ๆ. นอกจากนั้น ถ้ามีผู้กำกับและดาราชื่อดัง นักลงทุนก็อาจสนใจหนังตั้งแต่ระยะแรก ๆ นี้ด้วยซ้ำ ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ก็จำเป็นมากเพื่อจะได้เงินทุนมาสร้างหนัง.
งานอีกอย่างหนึ่งในช่วงพรีโพรดักชันคือการทำสตอรีบอร์ดหรือบทภาพ. สตอรีบอร์ดคือชุดภาพสเก็ตช์หรือภาพร่างที่เป็นเรื่องราวบางตอนของภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่มีการเคลื่อนไหวและมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น. สตอรีบอร์ดเปรียบเหมือนแบบพิมพ์เขียวสำหรับนักถ่ายทำภาพยนตร์ และช่วยประหยัดเวลาในการถ่ายทำมาก. แฟรงก์ ดาราบอนต์ ผู้กำกับและผู้เขียนบท กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าการเดินไปเดินมาอยู่ในกองถ่ายและเสียเวลาถ่ายทำไปเป็นวัน ๆ เพียงเพื่อพยายามคิดว่าควรตั้งกล้องไว้ที่ไหน.”
ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยในช่วงพรีโพรดักชันนี้. ตัวอย่างเช่น จะถ่ายทำกันที่ไหน? จะต้องเดินทางไปนอกสถานที่ไหม? จะสร้างและออกแบบฉากภายในอาคารอย่างไร? จำเป็นต้องใช้เครื่องแต่งกายพิเศษไหม? ใครจะจัดแสง, แต่งหน้า, และทำผม? แล้วเรื่องเสียง, สเปเชียลเอฟเฟกต์, และงานสตันต์ (นักแสดงแทน) ล่ะ? ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยว่าจะต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้างก่อนที่จะเริ่มถ่ายช็อตแรกด้วยซ้ำ. ถ้าคุณดูตอนท้ายของภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ คุณอาจจะเห็นรายชื่อของคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังนับร้อยคนทีเดียว! “ต้องใช้คนมหาศาลเพื่อจะสร้างภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง” ช่างคนหนึ่งซึ่งเคยทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์หลายเรื่องกล่าวไว้.
การถ่ายทำ
การถ่ายภาพยนตร์อาจต้องใช้เวลามาก, เป็นงานที่น่าเหนื่อยหน่าย, และเสียค่าใช้จ่ายสูง. ที่จริง หากเสียเวลาไปเพียงนาทีเดียวก็อาจทำให้สูญเงินไปนับหมื่นบาท. บางครั้งต้องมีการเคลื่อนย้ายนักแสดง, เจ้าหน้าที่กองถ่าย, และอุปกรณ์เครื่องใช้ไปยังประเทศที่อยู่ห่างไกล. แต่ไม่ว่าจะที่ไหน แต่ละวันที่ใช้ไปในการถ่ายทำก็ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปมากทีเดียว.
ช่างจัดแสง, ช่างทำผม, และช่างแต่งหน้าเป็นพวกแรก ๆ ที่มาถึงสถานที่ถ่ายทำ. ในวันถ่ายทำแต่ละวัน ดาราอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ ในการแต่งหน้าทำผม. แล้ววันอันยาวนานในการถ่ายทำก็เริ่มขึ้น.
ผู้กำกับจะดูแลการถ่ายแต่ละฉากอย่างใกล้ชิด. แม้แต่ฉากที่ค่อนข้างง่ายก็อาจใช้เวลาถ่ายทั้งวัน. ฉากส่วนใหญ่ในหนังจะใช้กล้องตัวเดียวถ่าย และเพราะเหตุนี้จึงต้องแสดงฉากเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อจะได้มุมกล้องต่าง ๆ กัน. นอกจากนั้น อาจต้องถ่ายช็อตเดียวกันซ้ำหลายรอบเพื่อจะได้ภาพการแสดงที่ดีที่สุดหรือเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิค. การถ่ายแต่ละครั้งเรียกว่า เทก. ถ้าเป็นฉากใหญ่ ๆ อาจต้องใช้ถึง 50 เทกหรือมากกว่านั้น! หลังจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นตอนสิ้นสุดของวันถ่ายทำ ผู้กำกับจะดูเทกต่าง ๆ ทั้งหมดและตัดสินใจว่าจะเก็บเทกไหนไว้. รวมทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนการถ่ายทำอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน.
โพสต์โพรดักชัน—การประกอบส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
ในช่วงโพสต์โพรดักชันหรือช่วงการผลิตหลังการถ่ายทำ จะมีการตัดต่อฟิล์มแต่ละช่วงให้เป็นภาพยนตร์ที่ต่อเนื่องกัน. ตอนแรก จะมีการใส่เสียงให้ตรงกับภาพในฟิล์ม.
แล้วผู้ตัดต่อก็จะปะติดปะต่อฟิล์มแต่ละช่วงเข้าด้วยกันอย่างหยาบ ๆ.เสียงประกอบและเทคนิคพิเศษทางภาพก็จะถูกใส่เข้าไปในช่วงนี้ด้วย. บางครั้ง จะใช้ภาพกราฟิกส์คอมพิวเตอร์ช่วยในการทำเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นส่วนที่ซับซ้อนที่สุดในการสร้างหนัง. ภาพที่ได้จะน่าตื่นตาตื่นใจและดูเหมือนจริงมาก.
เพลงประกอบภาพยนตร์จะถูกใส่เข้าไปในช่วงโพสต์โพรดักชันนี้ด้วย และเพลงก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับภาพยนตร์สมัยนี้. “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคนี้เรียกร้องให้มีดนตรีประกอบที่แต่งขึ้นเฉพาะสำหรับหนังเรื่องนั้น ๆ มากกว่ายุคก่อน และไม่ใช่แค่ยี่สิบนาทีหรือเฉพาะช่วงที่น่าตื่นเต้นเพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น แต่บ่อยครั้งต้องมีดนตรีประกอบยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง” เอดวิน แบลก เขียนในเพลงประกอบภาพยนตร์รายเดือน (ภาษาอังกฤษ).
บางครั้ง จะมีการฉายภาพยนตร์ที่ตัดต่อเสร็จใหม่ ๆ ให้แก่คนดูกลุ่มทดลอง ซึ่งอาจเป็นเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงานของผู้กำกับที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหนังเรื่องนั้น. โดยอาศัยปฏิกิริยาของคนเหล่านี้ ผู้กำกับอาจถ่ายบางฉากใหม่หรือตัดบางฉากออก. ในบางกรณี ตอนจบทั้งหมดของภาพยนตร์อาจถูกเปลี่ยนไปเลย เพราะคนดูกลุ่มทดลองไม่ชอบตอนจบแบบเดิม.
สุดท้าย ภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์ก็ออกฉายในโรง. เมื่อถึงตอนนี้ ก็จะเห็นได้แล้วว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเงินล้านหรือเป็นหนังขาดทุน—หรือแค่เสมอตัว. แต่เงินไม่ได้เป็นเดิมพันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น. ถ้าทำหนังออกมาล้มเหลวติดต่อกันหลาย ๆ เรื่อง นักแสดงก็อาจหมดโอกาสที่จะได้งานอีกและผู้กำกับก็จะเสียชื่อเสียงด้วย. “ผมเคยเห็นผู้กำกับรุ่นเดียวกับผมหลายคนตกงานเพราะทำหนังออกมาล้มเหลวสองสามครั้ง” ผู้กำกับชื่อ จอห์น โบร์แมน กล่าวเมื่อคิดถึงช่วงแรก ๆ ที่เขาเริ่มสร้างหนัง. “ความเป็นจริงที่โหดร้ายของธุรกิจภาพยนตร์ก็คือ ถ้าคุณทำเงินให้เจ้านายของคุณไม่ได้ คุณก็ถูกไล่ออก.”
แน่นอน เมื่อคนส่วนใหญ่ยืนดูป้ายโฆษณาภาพยนตร์ เขาก็ไม่ได้คิดว่าคนทำหนังจะมีงานทำหรือไม่. แต่ที่เขาเป็นห่วงที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องต่อไปนี้: ‘ฉันจะชอบหนังเรื่องนี้ไหม? หนังเรื่องนี้จะคุ้มค่าตั๋วไหม? มันจะเป็นหนังที่แย่มากหรือน่ารังเกียจไหม? เหมาะไหมถ้าจะให้ลูกของฉันดูหนังเรื่องนี้?’ คุณจะหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรเมื่อตัดสินใจว่าคุณจะชมภาพยนตร์เรื่องใด?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 อะนิตา เอลเบอร์เซ อาจารย์แห่งวิทยาลัยธุรกิจฮาร์เวิร์ด กล่าวว่า “แม้ว่าตอนนี้รายได้จากการขายตั๋วชมภาพยนตร์ในต่างประเทศมักจะสูงกว่าใน [สหรัฐ] แต่ความสำเร็จของภาพยนตร์ในสหรัฐเป็นปัจจัยกระตุ้นว่าหนังนั้น ๆ จะทำเงินได้ดีเพียงไรในต่างประเทศ.”
^ วรรค 3 แม้ว่ารายละเอียดในการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นลำดับขั้นตอนการสร้างหนังแบบหนึ่งที่เป็นไปได้.
^ วรรค 7 ในบางกรณี จะมีการเสนอขายเค้าโครงเรื่องให้ผู้อำนวยการสร้างแทนที่จะเป็นบทภาพยนตร์. ถ้าเขาสนใจ เขาอาจซื้อลิขสิทธิ์แล้วจ้างคนเขียนเป็นบทภาพยนตร์ต่อไป.
[คำโปรยหน้า 6]
“คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนดูในช่วงใดช่วงหนึ่งจะคิดว่าหนังแบบไหนน่าตื่นเต้นหรือน่าดูสำหรับเขา.”—เดวิด คุก ศาสตราจารย์ด้านวิชาการภาพยนตร์
[กรอบ/ภาพหน้า 6, 7]
กลยุทธ์การตลาดของหนังเงินล้าน
ภาพยนตร์ถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมจะฉายให้คนดูนับล้านคน. มันจะประสบความสำเร็จไหม? เชิญอ่านวิธีการบางอย่างที่ผู้สร้างหนังใช้เพื่อโฆษณาหนังของตนและทำให้มันกลายเป็นหนังเงินล้าน.
▪ การวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย: วิธีที่ได้ผลที่สุดวิธีหนึ่งในการทำให้คนดูเฝ้ารอหนังสักเรื่องคือการพูดกันปากต่อปาก. บางครั้ง มีการเริ่มพูดถึงหนังก่อนที่หนังจะออกฉายนานเป็นเดือน. บางทีอาจมีการออกข่าวว่าจะมีภาคต่อของหนังฮิตก่อนหน้านี้. ดาราชุดเดิมจะกลับมาแสดงไหม? ภาคต่อจะสนุก (หรือไม่สนุก) เหมือนภาคแรกไหม?
บางทีการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เกิดจากประเด็นซึ่งเป็นที่โต้เถียงกันในหนัง เช่น การมีฉากร่วมเพศซึ่งสมจริงมากเกินไปสำหรับภาพยนตร์ที่ฉายแก่คนทั่วไป. ฉากนั้นไม่เหมาะสมจริง ๆ ไหม? หนังเรื่องนี้ทำเกินขอบเขตไปไหม? คนสร้างหนังชอบการโฆษณาฟรีแบบนี้ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่มีการโต้เถียงกันไปมาในวงกว้าง. บางครั้ง เมื่อมีการโต้แย้งกันก็รับประกันได้ว่ารอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่องนั้นจะมีคนดูแน่นขนัด.
▪ สื่อ: วิธีโฆษณาที่ใช้กันมานานแล้วก็คือการโฆษณาในแผ่นป้าย, หนังสือพิมพ์, ทีวี, การฉายหนังตัวอย่าง, และการสัมภาษณ์ดาราที่โฆษณาหนังเรื่องล่าสุดของตน. ตอนนี้ อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการโฆษณาภาพยนตร์ด้วย.
▪ การขายสินค้า: การขายสินค้าอาจทำให้คนสนใจภาพยนตร์มากขึ้น. ตัวอย่างเช่น หนังยอดมนุษย์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องหนึ่งมีสินค้าหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับหนัง เช่น กล่องอาหาร, แก้วน้ำ, เครื่องประดับ, เสื้อผ้า, พวงกุญแจ, นาฬิกา, โคมไฟ, เกมกระดาน, และยังมีอีกมาก. “ตามปกติ 40 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าเกี่ยวกับภาพยนตร์จะขายได้ก่อนที่หนังจะออกฉายด้วยซ้ำ” โจ ซิสโต เขียนในนิตยสารบันเทิงของสมาคมทนายความอเมริกัน.
▪ วิดีโอ: ภาพยนตร์ที่ขาดทุนเมื่อฉายในโรงอาจถอนทุนคืนได้จากการขายวิดีโอ. บรูซ แนช ซึ่งติดตามรายได้ของภาพยนตร์หลายเรื่องกล่าวว่า “ตลาดวิดีโอสร้างรายได้ถึง 40 หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด.”
▪ การจัดเรต: ผู้สร้างหนังได้มารู้วิธีใช้การจัดเรตหนัง (การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์) ให้เป็นประโยชน์. ยกตัวอย่าง อาจมีการตั้งใจสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปเพื่อให้หนังถูกจัดอยู่ในเรตที่ดูหมิ่นเหม่มากขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนั้นเหมาะสำหรับผู้ใหญ่. ในอีกด้านหนึ่ง อาจมีการตัดเนื้อหาบางส่วนออกเพื่อจะให้หนังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในเรตเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ และจะได้ขายให้วัยรุ่นได้. ลิซา มันดี เขียนในวารสารเดอะ วอชิงตัน โพสต์ว่า เรตสำหรับวัยรุ่น “ได้กลายมาเป็นวิธีการโฆษณาอย่างหนึ่ง คือบริษัทที่สร้างภาพยนตร์จะใช้เรตนี้เพื่อสื่อกับวัยรุ่นและเด็ก ๆ ที่อยากเป็นวัยรุ่นว่า หนังเรื่องนั้นมีอะไรเจ๋ง ๆ อยู่.” การจัดเรตเป็นการสร้าง “ความตึงเครียดระหว่างวัย” มันดีเขียน “คือเตือนพ่อแม่ให้ระวังและพร้อมกันนั้นก็ดึงดูดเด็ก ๆ ให้มาดู.”
[ภาพหน้า 8, 9]
ขั้นตอนการสร้างหนัง
บทภาพยนตร์
สตอรีบอร์ด
เครื่องแต่งกาย
การแต่งหน้า
การถ่ายในสถานที่จริง
การถ่ายสเปเชียลเอฟเฟกต์
การผสมเสียง (มิกซ์)
การบันทึกเสียง
ภาพเคลื่อนไหวที่สร้างจากคอมพิวเตอร์
การตัดต่อ