ใครเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
ใครเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล?
คัมภีร์ไบเบิลพูดตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผู้เขียนเนื้อความในคัมภีร์ไบเบิล. ตอนต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลเริ่มต้นด้วยวลี เช่น “ถ้อยคำของท่านนะเฮมยา,” “นิมิตซึ่งยะซายา . . . ได้เห็น,” และ “คำแห่งพระยะโฮวาที่มาถึงโยเอล” เป็นต้น. (นะเฮมยา 1:1; ยะซายา 1:1; โยเอล 1:1) มีการระบุชื่อผู้เขียนบันทึกลำดับเวลาและเหตุการณ์สำคัญบางเรื่องว่าเป็นผลงานของฆาด, ของนาธาน, หรือของซามูเอล. (1 โครนิกา 29:29) จ่าหน้าของบทเพลงสรรเสริญหลายบทบอกชื่อผู้แต่งเพลงไว้ด้วย.—บทเพลงสรรเสริญ 79, 88, 89, 90, 103, และ 127, ฉบับแปลใหม่.
เนื่องจากมนุษย์ถูกใช้ให้เขียนคัมภีร์ไบเบิล คนช่างสงสัยจึงบอกว่า คัมภีร์ไบเบิลเป็นแค่ผลงานจากปัญญาของมนุษย์ เหมือนหนังสืออื่น ๆ นั่นแหละ. แต่ความเห็นเช่นนั้นมีพื้นฐานหนักแน่นไหม?
ผู้เขียนสี่สิบคน ผู้ประพันธ์หนึ่งคน
ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่ยอมรับว่าพวกเขาได้เขียนในนามของพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และยอมรับว่าพระเจ้าทรงชี้นำพวกเขา หรือผ่านทางตัวแทนที่เป็นทูตสวรรค์. (ซะคาระยา 1:7, 9) เหล่าผู้พยากรณ์ที่เขียนพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประกาศมากกว่า 300 ครั้งให้รู้ว่า “พระยะโฮวาตรัสดังนี้.” (อาโมศ 1:3; มีคา 2:3; นาฮูม 1:12) หนังสือหลายเล่มที่พวกเขาเขียนขึ้นต้นด้วยวลีเช่น “พระคำแห่งพระยะโฮวาที่มาถึงโฮเซอา.” (โฮเซอา 1:1; โยนา 1:1) อัครสาวกเปโตรกล่าวถึงเหล่าผู้พยากรณ์ของพระเจ้าดังนี้: “มนุษย์พูดตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้พูดโดยได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—2 เปโตร 1:21.
ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลจึงเป็นหนังสือที่ประกอบด้วยหลายส่วนต่าง ๆ กันแต่ก็สอดคล้องลงรอยกัน ทั้งยังมีผู้เขียนหลายคนซึ่งต่างก็ยอมรับว่าผู้ที่รับผิดชอบงานเขียนของพวกเขาคือพระเจ้า. กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ พระเจ้าได้ใช้เลขานุการที่เป็นมนุษย์ให้เขียนพระดำริของพระองค์. พระองค์ทรงทำการนี้โดยวิธีใด?
“การดลใจจากพระเจ้า”
อัครสาวกเปาโลอธิบายดังนี้: “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 3:16) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “การดลใจจาก พระเจ้า” หมายความตามตัวอักษรว่า “พระเจ้าทรงเป่า.” นั่นคือ พระเจ้าทรงใช้พลังซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตาโน้มนำความคิดผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดข่าวสารของพระองค์แก่พวกเขา. ส่วนในกรณีของพระบัญญัติสิบประการนั้น พระยะโฮวาได้ทรงจารึกถ้อยคำทั้งปวงลงบนแผ่นศิลาด้วยพระองค์เอง. (เอ็กโซโด 31:18) บางครั้งพระเจ้าได้ตรัสถ้อยคำโดยตรงแก่ผู้รับใช้ที่เป็นมนุษย์ให้จดบันทึกข่าวสารของพระองค์. ดังกล่าวในเอ็กโซโด 34:27 ว่า “ฝ่ายพระยะโฮวาตรัสแก่โมเซอีกว่า, ‘คำเหล่านี้จงจดไว้ . . . ’ ”
ในโอกาสอื่น ๆ พระเจ้าทรงบันดาลให้มนุษย์เห็นภาพเกี่ยวกับเรื่องที่พระองค์ประสงค์ให้บันทึกไว้. โดยเหตุนี้ ยะเอศเคลพูดว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นนิมิตแห่งพระเจ้า.” (ยะเอศเคล 1:1) ทำนองเดียวกัน “ดานิเอลเมื่อนอนหลับได้ฝันเห็นเป็นนิมิต; เขาจึงได้จดนิมิตนั้นไว้.” (ดานิเอล 7:1) วิวรณ์ พระธรรมเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลก็ได้ถ่ายทอดให้แก่อัครสาวกโยฮันในวิธีคล้าย ๆ กัน. โยฮันเขียนอย่างนี้: “ด้วยฤทธิ์แห่งพระวิญญาณ ข้าพเจ้าจึงมาอยู่ในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า และข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังเหมือนเสียงแตรอยู่ข้างหลังข้าพเจ้า ตรัสว่า: ‘จงเขียนสิ่งที่เจ้าเห็นลงในม้วนหนังสือ.’”—วิวรณ์ 1:10, 11.
สะท้อนบุคลิกภาพของมนุษย์
การดลใจจากพระเจ้าไม่ได้ลิดรอนความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้เขียน. อันที่จริง ผู้เขียนเองต้องใช้ความอุตสาหะพยายามในการเขียนข่าวสารของพระเจ้า. ยกตัวอย่าง ผู้เขียนพระธรรมท่านผู้ประกาศกล่าวว่าท่านได้ “เสาะหาถ้อยคำที่หวานหูและวิธีการเขียนถ้อยคำอันถูกต้องแห่งความจริง.” (ท่านผู้ประกาศ 12:10, ล.ม.) เพื่อรวบรวมบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เอษราได้ค้นหาข้อมูลอย่างน้อยจาก 14 แหล่งด้วยกัน อาทิ “หนังสือพงศาวดารแผ่นดินกษัตริย์ดาวิด” และ “หนังสือพงศาวดารกษัตริย์แผ่นดินยูดาและแผ่นดินยิศราเอล.” (1 โครนิกา 27:24; 2 โครนิกา 16:11) ลูกา ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณ “ตั้งใจจะเขียนเรื่องเหล่านั้น . . . ตามลำดับเหตุการณ์ . . . อย่างถูกต้องแม่นยำ.”—ลูกา 1:3.
พระธรรมบางเล่มในคัมภีร์ไบเบิลได้เผยให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้เขียน. ยกตัวอย่าง มัดธายเลวี คนเก็บภาษีก่อนเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูจึงใส่ใจในเรื่องตัวเลขมากเป็นพิเศษ. เขาเป็นคนเดียวในกลุ่มผู้เขียนกิตติคุณทั้งสี่ที่บอกว่าค่าตอบแทนจากการทรยศพระเยซูเป็น “เหรียญเงินสามสิบเหรียญ.” (มัดธาย 27:3; มาระโก 2:14) นายแพทย์ลูกาได้บันทึกรายละเอียดทางการแพทย์อย่างถูกต้องแม่นยำ. ตัวอย่างเช่น เมื่อพรรณนาอาการของผู้ป่วยบางรายซึ่งพระเยซูทรงรักษาให้หาย เขาใช้คำอธิบาย เช่น “ป่วยมีไข้สูง” และ “เป็นโรคเรื้อนทั้งตัว.” (ลูกา 4:38; 5:12; โกโลซาย 4:14) ดังนั้น บ่อยครั้ง พระยะโฮวาทรงยอมให้ผู้เขียนใช้สำนวนและลีลาการเขียนในแบบของเขาเอง แต่ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงชี้นำความคิดของพวกเขาเพื่อว่าข้อความนั้นจะถ่ายทอดข่าวสารของพระองค์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ.—สุภาษิต 16:9.
ผลผลิตขั้นสุดท้าย
เป็นเรื่องน่าทึ่งมิใช่หรือที่ผู้เขียนประมาณ 40 คนซึ่งอยู่ในหลายดินแดนและตลอดช่วงเวลากว่า 1,600 ปีได้ทำหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาซึ่งทุกประเด็นสอดประสานกันโดยสมบูรณ์ อีกทั้งสาระสำคัญของหนังสือนี้ก็ยังคงเสมอต้นเสมอปลายอย่างน่าอัศจรรย์? (ดู “คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร?” หน้า 19.) เรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้หากพวกเขาไม่ได้รับการชี้นำทั้งหมดจากผู้ประพันธ์องค์เดียว.
จำเป็นไหมที่พระยะโฮวาต้องใช้มนุษย์เขียนถ้อยคำของพระองค์? ไม่. แต่การที่พระองค์ทรงทำเช่นนั้นแสดงให้ประจักษ์ถึงพระสติปัญญาของพระองค์. ที่แท้แล้ว เหตุผลประการหนึ่งที่ดึงดูดใจผู้คนทั่วโลกให้ยอมรับคัมภีร์ไบเบิลก็คือผู้เขียนแสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกทุกอย่างของมนุษย์ได้กระจ่างชัดอย่างในกรณีของกษัตริย์ดาวิดก็แสดงให้เห็นแม้กระทั่งการสำนึกผิดของผู้ทำบาปที่กลับใจซึ่งได้ทูลวิงวอนขอความเมตตาจากพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 51:2-4, 13, 17, จ่าหน้าบทในฉบับแปลใหม่.
แม้นพระยะโฮวาทรงใช้ผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ พวกเราก็มีความเชื่อมั่นในงานเขียนของพวกเขาได้เช่นเดียวกันกับคริสเตียนรุ่นแรก ๆ ได้ยอมรับว่าพระคัมภีร์บริสุทธิ์ “ไม่ใช่อย่างคำของมนุษย์ แต่อย่างที่พระคำนั้นเป็นจริง ๆ คือเป็นพระคำของพระเจ้า.”—1 เทสซาโลนิเก 2:13.
คุณเคยสงสัยไหม?
▪ ใครคือผู้ประพันธ์ “พระคัมภีร์ทุกตอน”?—2 ติโมเธียว 3:16.
▪ พระยะโฮวาพระเจ้าทรงใช้วิธีใดบ้างเพื่อถ่ายทอดพระดำริของพระองค์?—เอ็กโซโด 31:18; 34:27; ยะเอศเคล 1:1; ดานิเอล 7:1.
▪ บุคลิกภาพและความสนใจของผู้เขียนที่ได้รับการดลใจปรากฏให้เห็นเช่นไรในสิ่งที่พวกเขาเขียน?—มัดธาย 27:3; ลูกา 4:38.