ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน

คัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน

คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน

“ถ้า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​พระ​คำ​ที่​พระเจ้า​ตรัส​กับ​มนุษย์ นั่น​ก็​หมาย​ความ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​สื่อ​ความ กับ​เรา. . . . ถ้า​ศาสนา​ที่​คุณ​นับถือ​ส่ง​ผล​กระทบ​ชีวิต​คุณ​ทั้ง​ชีวิต ภาษา​ที่​ใช้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ต้อง​เป็น​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน.” นี่​เป็น​ถ้อย​คำ​ที่​อลัน ดัตที เขียน​ไว้​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ต่าง ๆ และ​วิธี​เลือก​ฉบับ​แปล​เหล่า​นั้น (ภาษา​อังกฤษ).

บรรดา​ผู้​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เห็น​พ้อง​กับ​คำ​กล่าว​นั้น​อย่าง​เต็ม​ใจ. พวก​เขา​เชื่อ​มั่น​ว่า “พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​มี​ประโยชน์​เพื่อ​การ​สอน การ​ว่า​กล่าว การ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​ถูก​ต้อง การ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​ชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16) คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​หนังสือ​คร่ำครึ​ล้า​สมัย แต่​เป็น​หนังสือ​ที่ “มี​ชีวิต ทรง​พลัง” ช่วย​ให้​รู้​วิธี​แก้​ปัญหา​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต​ได้​อย่าง​แท้​จริง. (ฮีบรู 4:12) แต่​ถ้า​จะ​ให้​ผู้​อ่าน​เข้าใจ​และ​ปฏิบัติ​ตาม​หนังสือ​ศักดิ์สิทธิ์​นี้​ได้ หนังสือ​นี้​ต้อง​ใช้​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน. ดัง​นั้น พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ที่​เรียก​กัน​ว่า​พันธสัญญา​ใหม่​จึง​ไม่​เขียน​ด้วย​ภาษา​กรีก​โบราณ​ที่​พวก​นัก​ปราชญ์​อย่าง​เพลโต​ใช้​กัน แต่​เขียน​ด้วย​ภาษา​กรีก​สามัญ​ที่​เรียก​ว่า​คีนิ​ซึ่ง​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน. ใช่​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​ขึ้น​ด้วย​ภาษา​อย่าง​นั้น​แหละ​เพื่อ​ให้​คน​ทั่ว​ไป​อ่าน​และ​เข้าใจ​ได้.

เพื่อ​จุด​ประสงค์​นี้ จึง​มี​การ​จัด​ทำ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ภาษา​สมัย​ใหม่​ขึ้น​หลาย​ฉบับ​ใน​หลาย​ภาษา ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เป็น​ประโยชน์​มาก. ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​หา​พระ​คัมภีร์​อ่าน​ได้​ง่าย​ขึ้น. แต่​น่า​เสียดาย​ที่​เนื่อง​จาก​ความ​ลำเอียง ฉบับ​แปล​ใหม่ ๆ หลาย​ฉบับ​จึง​แปล​อย่าง​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​และ​ไม่​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย. ตัว​อย่าง​เช่น บาง​ฉบับ​มัก​ทำ​ให้​คำ​สอน​ที่​ชัดเจน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​คลุมเครือ เช่น คำ​สอน​เกี่ยว​กับ​สภาพ​คน​ตาย ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​มนุษย์ และ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เที่ยง​แท้.

ดัง​นั้น บรรดา​ผู้​รัก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จึง​รู้สึก​ยินดี​ที่​มี​การ​ออก​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ใน​ภาษา​ไทย. พยาน​พระ​ยะโฮวา​ประกาศ​การ​ออก​ฉบับ​แปล​ภาษา​ไทย​ที่​เป็น​ภาษา​สมัย​ใหม่​นี้ ณ การ​ประชุม​ภาค​ใน​ประเทศ​ไทย​ใน​เดือน​ตุลาคม 2007. เนื่อง​จาก​ผู้​แปล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ไม่​ถูก​โน้ม​น้าว​ให้​แปล​สอดคล้อง​กับ​หลัก​ข้อ​เชื่อ​ของ​ศาสนา​ใด ฉบับ​แปล​นี้​จึง​โดด​เด่น​ใน​การ​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​อย่าง​ถูก​ต้อง ทำ​ให้​ผู้​อ่าน​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​ผู้​ที่​ไม่​คุ้น​เคย​กับ​ภาษา​โบราณ​คง​ไม่​อาจ​เข้าใจ​ได้​อย่าง​นั้น. แต่​คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า​ใคร​เป็น​ผู้​ดำเนิน​การ​ให้​มี​ฉบับ​แปล​ที่​ดี​เยี่ยม​นี้?

ผู้​แปล​ที่​ยกย่อง​สรรเสริญ​พระเจ้า

แม้​ว่า​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ อาจ​เป็น​สิ่ง​ใหม่​สำหรับ​คน​ที่​พูด​ภาษา​ไทย แต่​ที่​จริง​แล้ว​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ มี​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1950 แล้ว. ตอน​นั้น​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ออก​เป็น​ภาษา​อังกฤษ​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ซึ่ง​เป็น​สมาคม​คัมภีร์​ไบเบิล​นานา​ชาติ​ที่​มี​ความ​เป็น​มา​ยาว​นาน​ใน​การ​จัด​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล. ชื่อ​ของ​ฉบับ​แปล​ฉบับ​ใหม่​นี้​แตกต่าง​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​จาก​ฉบับ​แปล​ที่​แบ่ง​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​แบบ​เดิม​เป็น​ภาค​พันธสัญญา “เดิม” และ “ใหม่” นี่​เป็น​เพียง​ลักษณะ​หนึ่ง​ใน​หลาย ๆ ลักษณะ​ที่​แสดง​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้​ไม่​เหมือน​ฉบับ​แปล​อื่น ๆ. วารสาร​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 15 กันยายน 1950 บอก​ว่า “คน​ที่​ประกอบ​เป็น​คณะ​กรรมการ​แปล​ได้​แสดง​ความ​ต้องการ . . . ว่า​ไม่​ประสงค์​ให้​บอก​ชื่อ​ของ​ตน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ไม่​ต้องการ​ให้​มี​การ​บอก​ชื่อ​ของ​ตน​ทั้ง​ใน​ขณะ​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​และ​หลัง​จาก​เสีย​ชีวิต​ไป​แล้ว. วัตถุ​ประสงค์​ของ​ฉบับ​แปล​นี้​คือ​เพื่อ​ยกย่อง​พระ​นาม​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่.”

พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ภาษา​อังกฤษ​ที่​ประกอบ​ด้วย​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ใน​เล่ม​เดียว​ถูก​จัด​พิมพ์​ออก​มา​ใน​ปี 1961. และ​แม้​ว่า​ยัง​คง​ไม่​มี​การ​เปิด​เผย​ชื่อ​พวก​ผู้​แปล​จน​ทุก​วัน​นี้ แต่​ก็​ไม่​มี​อะไร​น่า​สงสัย​ใน​เรื่อง​เจตนา​หรือ​ระดับ​การ​ทุ่มเท​ตัว​ของ​พวก​เขา. คำนำ​ของ​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ฉบับ 1984 กล่าว​ว่า “การ​แปล​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​หมาย​ถึง​การ​ถ่ายทอด​พระ​ดำริ​และ​คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เป็น​อีก​ภาษา​หนึ่ง . . . ผู้​แปล​พระ​คัมภีร์​ซึ่ง​ยำเกรง​และ​รัก​พระเจ้า​ผู้​ประพันธ์​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​สำนึก​ว่า​พวก​เขา​มี​ความ​รับผิดชอบ​ต่อ​พระองค์​เป็น​พิเศษ​ที่​จะ​ถ่ายทอด​พระ​ดำริ​และ​คำ​แถลง​ของ​พระองค์​อย่าง​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ตั้งใจ​อัน​ดี​เท่า​นั้น​ไหม​ที่​เป็น​คุณสมบัติ​ที่​ทำ​ให้​คณะ​กรรมการ​แปล​ทำ​งาน​นี้​ได้? ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​ไม่​พอ​ใจ​บาง​คน​โต้​แย้ง​ว่า หนังสือ​ที่​ไม่​มี​การ​เปิด​เผย​ชื่อ​ผู้​แปล​และ​หนังสือ​รับรอง​ทาง​วิชาการ​ควร​ถูก​ตัดสิน​ไม่​รับ​พิจารณา​เนื่อง​จาก​เป็น​ผล​งาน​ของ​มือ​สมัคร​เล่น. แต่​ไม่​ใช่​ผู้​คง​แก่​เรียน​ทุก​คน​มี​ความ​คิด​เห็น​ที่​ไร้​เหตุ​ผล​อย่าง​นั้น. อลัน เอส. ดัตที เขียน​ว่า “ถ้า​เรา​รู้​ว่า​ผู้​แปล​หรือ​ผู้​จัด​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ฉบับ​หนึ่ง​เป็น​ใคร นั่น​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ตัดสิน​ได้​ไหม​ว่า​ฉบับ​แปล​นั้น​ดี​หรือ​ไม่​ดี? อาจ​จะ​ช่วย​ได้​บ้าง. แต่​ว่า จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ตรวจ​ดู​ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​ฉบับ​แปล​แต่​ละ​ฉบับ.” *

ผู้​อ่าน​นับ​หมื่น​นับ​แสน​คน​ทำ​เช่น​นั้น. จน​ถึง​เดี๋ยว​นี้ มี​การ​พิมพ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ครบ​ชุด​หรือ​บาง​ส่วน​ออก​แล้ว​ประมาณ 139 ล้าน​เล่ม​ใน 62 ภาษา. ผู้​อ่าน​จำนวน​มาก​พบ​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้​เป็น​อย่าง​ไร?

ฉบับ​แปล​ที่​ทำ​ให้​พระ​นาม​พระเจ้า​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์

ที่​มัดธาย 6:9 พระ​เยซู​ทรง​สอน​เหล่า​สาวก​ให้​อธิษฐาน​ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระ​บิดา​ของ​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์ ขอ​ให้​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์.” แต่​ใน​ฉบับ​แปล​ส่วน​ใหญ่ พระเจ้า​ทรง​เป็น​บุคคล​ที่​ไม่​มี​พระ​นาม มี​การ​ระบุ​ตัว​พระองค์​ด้วย​คำ​ระบุ​ตำแหน่ง​ว่า “พระเจ้า” หรือ “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” เท่า​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แต่​เดิม​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​นี้. ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​มี​การ​ระบุ​ตัว​พระเจ้า​อย่าง​ชัดเจน​ด้วย​พระ​นาม​เฉพาะ​ว่า “ยะโฮวา” เกือบ 7,000 ครั้ง. (เอ็กโซโด 3:15; บทเพลง​สรรเสริญ 83:18) ใน​เวลา​ต่อ​มา ความ​กลัว​ใน​เรื่อง​โชค​ลาง​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​เลิก​ใช้​พระ​นาม​พระเจ้า. หลัง​จาก​เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระ​เยซู​สิ้น​ชีวิต แนว​คิด​ใน​เรื่อง​โชค​ลาง​เช่น​นั้น​ก็​แพร่​เข้า​มา​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. (เทียบ​กับ​กิจการ 20:29, 30; 1 ติโมเธียว 4:​1.) พวก​ผู้​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​เริ่ม​ใช้​คำ​ภาษา​กรีก​คีรีออส และ​เทออส ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” และ “พระเจ้า” มา​ใส่​แทน​ที่ “ยะโฮวา” พระ​นาม​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า.

แต่​น่า​ยินดี​ที่​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ได้​จัด​การ​เอา​พระ​นาม​ยะโฮวา​มา​ใส่​ใน​ที่​เดิม​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​มี​พระ​นาม​นี้​ถึง 237 ครั้ง. การ​ใส่​พระ​นาม​พระเจ้า​ไว้​ใน​ที่​เดิม​นี้​ไม่​ได้​ทำ​ตาม​ความ​คิด​ของ​ผู้​แปล​เอง แต่​ทำ​ตาม​ข้อมูล​ทาง​วิชาการ​ที่​สม​เหตุ​สม​ผล​และ​อย่าง​รอบคอบ. ตัว​อย่าง​เช่น ลูกา 4:18 ยก​ข้อ​ความ​ใน​ยะซายา 61:1 มา​กล่าว ซึ่ง​ตาม​ข้อ​ความ​เดิม​ใน​ภาษา​ฮีบรู​มี​พระ​นาม​ยะโฮวา​อยู่​ใน​หนังสือ​ยะซายาห์​ข้อ​นี้. * ดัง​นั้น ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ จึง​แปล​ลูกา 4:18 อย่าง​เหมาะ​สม​ว่า “พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อยู่​บน​ข้าพเจ้า เพราะ​พระองค์​ทรง​เจิม​ข้าพเจ้า​ให้​ประกาศ​ข่าว​ดี​แก่​คน​ยาก​จน.”

นอก​จาก​นี้ การ​แปล​เช่น​นี้​ยัง​ช่วย​ผู้​อ่าน​ให้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เป็น​คน​ละ​องค์​กับ​พระ​เยซู​คริสต์​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ของ​พระองค์​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น ฉบับ​แปล​ส่วน​ใหญ่​แปล​มัดธาย 22:24 ว่า “พระเจ้า​ตรัส​กับ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ของ​ข้าพเจ้า.” แต่​ใน​ข้อ​นี้ ใคร​กำลัง​พูด​กับ​ใคร? ที่​จริง ข้อ​นี้​ยก​ข้อ​ความ​จาก​บทเพลง​สรรเสริญ 110:1 มา​กล่าว ซึ่ง​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​มี​พระ​นาม​พระเจ้า​อยู่. ดัง​นั้น ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ จึง​แปล​ข้อ​นี้​ว่า “พระ​ยะโฮวา ตรัส​กับ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ของ​ข้าพเจ้า​ว่า ‘จง​นั่ง​ด้าน​ขวา​มือ​ของ​เรา​จน​กว่า​เรา​จะ​ทำ​ให้​เหล่า​ศัตรู​ของ​เจ้า​อยู่​ใต้​เท้า​เจ้า.’ ” การ​เข้าใจ​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​กับ​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​ที่​พระ​คัมภีร์​แสดง​ให้​เห็น​นี้​ไม่​ใช่​เรื่อง​วิชา​ความ​รู้. (มาระโก 13:32; โยฮัน 8:17, 18; 14:28) นี่​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก​ต่อ​ความ​รอด​ของ​คน​เรา. กิจการ 2:21 บอก​ว่า “ทุก​คน​ที่​ทูล​อ้อน​วอน​โดย​ออก​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​จะ​รอด.”

ถูก​ต้อง​และ​ชัดเจน

ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ยัง​มี​ลักษณะ​เด่น​อื่น ๆ อีก. ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​เดิม​ที่​ขัด​เกลา​อย่าง​ดี​ยิ่ง​โดย​เวสต์คอตต์​และ​ฮอร์ต​ถูก​เลือก​มา​เป็น​พื้น​ฐาน​สำคัญ​สำหรับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ. มี​การ​เพียร​พยายาม​อย่าง​ยิ่ง​เพื่อ​แปล​ภาษา​กรีก​เดิม​อย่าง​ถูก​ต้อง​และ​ตาม​ตัว​อักษร​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ให้​เป็น​ภาษา​สมัย​ใหม่​ที่​เข้าใจ​ง่าย. การ​ทำ​เช่น​นี้​ไม่​เพียง​รักษา​อรรถรส​ของ​ข้อ​ความ​เดิม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ช่วย​ให้​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​มาก​ด้วย.

ตัว​อย่าง​เช่น ข้อ​ความ​ใน​โรม 13:1 ที่​อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​คริสเตียน​ให้ “ยอม​เชื่อ​ฟัง​ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง” หรือ​คณะ​ผู้​ปกครอง​ฝ่าย​โลก. ฉบับ​แปล​หลาย​ฉบับ​บอก​ต่อ​ไป​ว่า​คณะ​ผู้​ปกครอง​ที่​กล่าว​ถึง​นั้น “พระเจ้า​ก็​ได้​ทรง​ตั้ง​ไว้” หรือ “พระเจ้า​ทรง​แต่ง​ตั้ง​ขึ้น.” (ฉบับ​แปล​เก่า, ฉบับ​แปล​ใหม่, ฉบับ 2002) ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง​บาง​คน​ใช้​ความ​หมาย​ของ​การ​แปล​เช่น​นี้​เพื่อ​ทำ​ให้​การ​ปกครอง​แบบ​เผด็จการ​ของ​ตน​กลาย​เป็น​เรื่อง​ถูก​ต้อง. แต่​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แปล​ข้อ​นี้​ตาม​ตัว​อักษร​ด้วย​ความ​ถูก​ต้อง​ว่า “ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง​นั้น​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​สูง​ต่ำ​โดย​พระเจ้า.” * ตอน​นี้​จึง​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า แม้​พระเจ้า​ไม่​ได้​เลือก​ผู้​ปกครอง​ฝ่าย​โลก​เอง แต่​พระองค์​ทรง​อนุญาต​ให้​คน​เหล่า​นั้น​มี​อำนาจ​ตาม​ตำแหน่ง​สูง​ต่ำ แต่​ต่ำ​กว่า​พระองค์​เสมอ.

อีก​ประการ​หนึ่ง ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ พยายาม​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ที่​แตกต่าง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ของ​คำ​กริยา​ภาษา​กรีก. ใน​ภาษา​สมัย​ใหม่​หลาย​ภาษา มี​การ​เปลี่ยน​รูป​คำ​กริยา​เพื่อ​บอก​เวลา (กาล) ของ​การ​กระทำ​ของ​กริยา เช่น อดีต, ปัจจุบัน, หรือ​อนาคต. ใน​ภาษา​กรีก คำ​กริยา​ยัง​แสดง​ด้วย​ว่า​การ​กระทำ​นั้น ๆ มี​การ​กระทำ​แบบ​ไหน​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย ไม่​ว่า​เป็น​การ​กระทำ​ชั่ว​ขณะ, การ​กระทำ​ที่​เสร็จ​สมบูรณ์, หรือ​การ​กระทำ​ที่​ดำเนิน​อยู่. ขอ​พิจารณา​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​มัดธาย 6:​33. คำ​กริยา​ภาษา​กรีก​ที่​หมาย​ความ​ว่า “แสวง​หา” ถ่ายทอด​การ​กระทำ​ที่​ต่อ​เนื่อง. ดัง​นั้น ผล​กระทบ​จาก​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​จึง​ถูก​ถ่ายทอด​ออก​มา​อย่าง​ครบ​ถ้วน​ใน​คำ​แปล​ที่​ว่า “จง​แสวง​หา ราชอาณาจักร​และ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์​ก่อน​เสมอ​ไป แล้ว​พระองค์​จะ​ทรง​ให้​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​นี้​แก่​พวก​เจ้า.” ทำนอง​เดียว​กัน มี​การ​แปล​มัดธาย 7:7 ว่า “จง​ขอ​ต่อ ๆ ไป แล้ว​จะ​ได้​รับ จง​หา​ต่อ ๆ ไป แล้ว​จะ​พบ จง​เคาะ​ต่อ ๆ ไป แล้ว​จะ​เปิด​ให้.”—​ดู​โรม 1:32; 6:2; กาลาเทีย 5:15 ด้วย.

ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ พยายาม​เป็น​พิเศษ​เพื่อ​แปล​คำ​สำคัญ ๆ อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย. ตัว​อย่าง​เช่น ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แปล​คำ​ภาษา​กรีก สเตารอส ว่า “เสา​ทรมาน” ทุก​ครั้ง​ที่​มี​คำ​นี้. ดัง​นั้น ผู้​อ่าน​จึง​เข้าใจ​ทันที​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ได้​สิ้น​พระ​ชนม์​บน​ไม้กางเขน​ซึ่ง​เป็น​ไม้​สอง​ท่อน​วาง​ไขว้​กัน​เป็น​มุม​ฉาก​ที่​เป็น​เครื่องหมาย​ของ​พวก​นอก​รีต อย่าง​ที่​สอน​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​คริสต์​ศาสนจักร แต่​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​บน​หลัก​หรือ​เสา​ที่​ตั้ง​ตรง​ซึ่ง​เป็น​ความ​หมาย​พื้น​ฐาน​ของ​คำ​สเตารอส.—มัดธาย 27:40; โยฮัน 19:17; ฟิลิปปอย 2:8; ฮีบรู 12:2.

การ​ทำ​ให้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

หา​อ่าน​ได้​ทั่ว​โลก

การ​ออก​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ใน​ภาษา​ไทย​นี้​เป็น​แค่​การ​เริ่ม​ต้น. มี​การ​วาง​แผน​จะ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ใน​วัน​ข้าง​หน้า. แต่​ผู้​อ่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​แน่​ใจ​ได้​ไหม​ว่า​ฉบับ​แปล​ภาษา​ไทย​จะ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​และ​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​เช่น​เดียว​กับ​ภาษา​อังกฤษ?

แน่​ใจ​ได้​แน่นอน เพราะ​งาน​แปล​นี้​อยู่​ใน​การ​ดู​แล​อย่าง​ใกล้​ชิด​ของ​คณะ​กรรมการ​ฝ่าย​การ​เขียน​ของ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง. มี​การ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​สุขุม​ให้​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ ทำ​กัน​เป็น​ทีม. ดัง​นั้น ทีม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​ถูก​ตั้ง​ขึ้น​ใน​หลาย​ประเทศ​ทั่ว​โลก. มี​การ​ตั้ง​แผนก​ช่วยเหลือ​การ​แปล​ขึ้น​ที่​สำนักงาน​กลาง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​บรุกลิน รัฐ​นิวยอร์ก เพื่อ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ทีม​แปล​เหล่า​นั้น​ตาม​ความ​จำเป็น เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม และ​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ใน​ภาษา​ต่าง ๆ มี​ความ​สอดคล้อง​กัน. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​การ​พัฒนา​เครื่อง​มือ​ที่​เป็น​ประโยชน์​มาก​ขึ้น​อย่าง​หนึ่ง​ด้วย นั่น​คือ ระบบ​คอมพิวเตอร์​เพื่อ​ช่วย​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล. แน่นอน งาน​แปล​ยัง​คง​ต้อง​อาศัย​ความ​พยายาม​ของ​มนุษย์​มาก​ที​เดียว. แต่​ระบบ​คอมพิวเตอร์​ช่วย​ทำ​ให้​การ​บรรลุ​เป้าหมาย​อัน​สูง​ส่ง​นั้น​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ขึ้น​สำหรับ​ทีม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​จะ​ต้อง​แปล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ด้วย​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​และ​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​เช่น​เดียว​กับ​ฉบับ​แปล​ภาษา​อังกฤษ. ประโยชน์​อย่าง​หนึ่ง​คือ ระบบ​การ​แปล​ด้วย​คอมพิวเตอร์​บอก​ว่า​คำ​ภาษา​ฮีบรู​และ​คำ​ภาษา​กรีก​แต่​ละ​คำ​ได้​รับ​การ​แปล​อย่าง​ไร​ใน​ฉบับ​ภาษา​อังกฤษ ซึ่ง​ช่วย​ผู้​แปล​ได้​มาก​ที​เดียว​ใน​การ​เลือก​คำ​แปล​ใน​ภาษา​ไทย.

ผล​สำเร็จ​ของ​การ​ดำเนิน​งาน​นี้​เห็น​ได้​จาก​ผล​ที่​ออก​มา. เรา​สนับสนุน​คุณ​ให้​ตรวจ​ดู​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่. คุณ​จะ​รับ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​นี้​ได้​จาก​ผู้​จัด​พิมพ์​วารสาร​นี้. นอก​จาก​นี้ คุณ​จะ​ได้​เห็น​ลักษณะ​พิเศษ​หลาย​อย่าง เช่น ตัว​พิมพ์​ที่​ชัดเจน​อ่าน​ง่าย, ข้อ​ความ​บอก​สาระ​สำคัญ​ของ​หน้า​ซึ่ง​ช่วย​คุณ​ให้​หา​ข้อ​คัมภีร์​ที่​คุ้น​เคย​ได้​เร็ว​ขึ้น, แผนที่​ที่​ให้​ราย​ละเอียด, และ​เนื้อหา​ใน​ภาค​ผนวก​ที่​ดึงดูด​ใจ​ให้​อ่าน. ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คือ คุณ​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​นี้​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​ว่า​เป็น​หนังสือ​ที่​ถ่ายทอด​คำ​ตรัส​ของ​พระเจ้า​ด้วย​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 น่า​สนใจ ที่​กระดาษ​หุ้ม​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​นิว อเมริกัน สแตนดาร์ด ไบเบิล มี​ข้อ​ความ​ว่า “เรา​ไม่​ได้​ใช้​ชื่อ​นัก​วิชาการ​คน​ใด​เพื่อ​อ้างอิง​หรือ​แนะ​นำ เพราะ​เรา​เชื่อ​ว่า​ผู้​คน​จะ​ประเมิน​ค่า​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ด้วย​คุณค่า​ของ​พระ​คำ​นั้น.”

^ วรรค 13 เป็น​ความ​จริง​ที่​ว่า​ฉบับ​แปล​เซปตัวจินต์​ภาษา​กรีก​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​การ​ยก​ข้อ​ความ​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​มา​กล่าว​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่. เนื่อง​จาก​สำเนา​ฉบับ​หลัง ๆ ของ​ฉบับ​แปล​เซปตัวจินต์ ไม่​มี​พระ​นาม​พระเจ้า ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน​จึง​อ้าง​ว่า​ควร​ตัด​พระ​นาม​นี้​ออก​จาก​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก. แต่​สำเนา​ฉบับ​เก่า​ที่​สุด​ของ​ฉบับ​แปล​เซปตัวจินต์ ที่​มี​อยู่​นั้น​มี​พระ​นาม​ยะโฮวา​ใน​รูป​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ. ข้อ​นี้​จึง​เป็น​ข้อ​สนับสนุน​ที่​หนักแน่น​สำหรับ​การ​ใส่​พระ​นาม​ยะโฮวา​ไว้​ใน​ที่​เดิม​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก.

^ วรรค 17 ดู​หนังสือ​คู่มือ​พจนานุกรม​ภาษา​กรีก​สำหรับ​พันธสัญญา​ใหม่ โดย จี. แอ็บบอต-สมิท และ​พจนานุกรม​ภาษา​กรีก-อังกฤษ โดย​ลิดเดลล์​และ​สกอตต์. โดย​อาศัย​หนังสือ​เหล่า​นี้​และ​แหล่ง​ข้อมูล​อื่น ๆ ที่​เชื่อถือ​ได้ คำ​ภาษา​กรีก​คำ​นี้​มี​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า “จัด​เป็น​ระเบียบ, จัด​ไว้​ตาม​ตำแหน่ง.”

[รูปภาพ]

ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ด้วย​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน

ลักษณะ​เด่น​ของ​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่

มี​การ​เพียร​พยายาม​อย่าง​ยิ่ง​เพื่อ​แปล​ภาษา​กรีก​เดิม​อย่าง​ถูก​ต้อง​และ​ตาม​ตัว​อักษร​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ให้​เป็น​ภาษา​สมัย​ใหม่​ที่​เข้าใจ​ง่าย

ตัว​หนังสือ​ที่​อ่าน​ง่าย

ทำ​ให้​อ่าน​เพลิน

ข้อ​ความ​บอก​สาระ​สำคัญ​ของ​หน้า​ซึ่ง​ช่วย​คุณ​ให้​หา​ข้อ​คัมภีร์​ที่​คุ้น​เคย​ได้​เร็ว​ขึ้น

แผนที่​ที่​ให้​ราย​ละเอียด​ช่วย​ผู้​อ่าน​ให้​เข้าใจ​สภาพ​ภูมิศาสตร์​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ดี​ขึ้น

“ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่” ที่​ชัดเจน​เข้าใจ​ง่าย​เป็น​ประโยชน์​มาก​ใน​งาน​เผยแพร่​ของ​คริสเตียน

[รูปภาพ]

พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่

1 ติโมเธียว 3:16 ตาม​ที่​ปรากฏ​ใน​โคเดกซ์​ไซนาย​ติคุส ศตวรรษ​ที่ 4 สากล​ศักราช.

พระ​คริสต์​เยซู. 19 อย่า​ดับ​พระ​วิญญาณ. 20 อย่า​ดูหมิ่น​คำ​พยากรณ์. 21 จง​ตรวจ​ดู​ทุก​สิ่ง​ให้​แน่​ใจ สิ่ง​ที่​ดี​นั้น​จง​ยึด​ไว้​ให้​มั่น. 22 จง​ละ​เว้น​การ​ชั่ว​ทุก​อย่าง.

23 ขอ​ให้​พระเจ้า​แห่ง​สันติ​สุข​ทรง​ทำ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คน​บริสุทธิ์​ใน​ทุก​ด้าน และ​ขอ​ทรง​รักษา​ทั้ง​จิตใจ ชีวิต * และ​กาย​ของ​พวก​ท่าน​ให้​ปราศจาก​ตำหนิ​ใน​คราว⁠การ​ประทับ *ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา. 24 พระองค์​ผู้​ทรง​เรียก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​นั้น​สัตย์​ซื่อ และ​พระองค์​จะ​ทรง​ทำ​เช่น​นั้น.

25 พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย จง​อธิษฐาน​เพื่อ​เรา​ต่อ ๆ ไป.

26 ขอ​ให้​พวก​ท่าน​ทักทาย​พี่​น้อง​ทุก​คน​ด้วย​การ​จูบ​อย่าง​บริสุทธิ์​ใจ.

27 ข้าพเจ้า​ขอ​สั่ง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ใน​นาม​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ให้​อ่าน​จดหมาย​ฉบับ​นี้​ให้​พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย​ฟัง.

28 ขอ​ให้​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา​จง​มี​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เถิด.

 ดู​ภาค​ผนวก 7ก.

 ดู​ภาค​ผนวก 5.