พลอฟดิฟ—เมืองทันสมัยที่มีต้นตอมาแต่โบราณ
พลอฟดิฟ—เมืองทันสมัยที่มีต้นตอมาแต่โบราณ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบัลแกเรีย
พลอฟดิฟเก่าแก่กว่าโรม, คาร์เทจ, หรือคอนสแตนติโนเปิล. ผู้คนราว ๆ 350,000 คนอาศัยอยู่ในเมืองนี้ ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตบนเขาเจ็ดลูกในแถบภาคกลางตอนใต้ของบัลแกเรีย.
เมื่อเดินไปตามถนนสายเก่าแก่ของเมืองนี้ คุณก็จะได้พบหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเมืองนี้เคยมีอดีตอันรุ่งเรือง ทว่าเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย. สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่สร้างโดยชาวเทรซ ชนเผ่าที่ใคร ๆ ก็หวาดกลัวซึ่งมีชีวิตอยู่นานหลายร้อยปีก่อนสากลศักราชนั้น ยังคงมีให้เห็นเช่นเดียวกับเสาหินของชาวกรีก, โรงละครของชาวโรมัน, และหอสูงของมัสยิดของชาวตุรกี.
“งามล้ำเลิศกว่าเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น”
การค้นพบทางโบราณคดีทั้งในเมืองและรอบ ๆ เมืองเผยให้ทราบว่า เมืองนี้เคยมีประชากรอาศัยอยู่นานก่อนช่วงสหัสวรรษแรกก่อนสากลศักราช. อัมมีอานุส มาร์เซลลีนุส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันได้เขียนว่า ก่อนศตวรรษที่สี่ก่อน ส.ศ. ชุมชนที่มีปราการอันแข็งแกร่งของชาวเทรซซึ่งเรียกกันว่ายูมัลเพียส เคยตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นเมืองพลอฟดิฟในปัจจุบัน. ในปี 342 ก่อน ส.ศ. ยูมัลเพียสถูกพิชิตโดยกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย พระราชบิดาของอะเล็กซานเดอร์มหาราช. กษัตริย์ฟิลิปได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เป็นฟีลีโปโปลิส.
เมื่อชาวโรมันยึดครองเมืองนี้ได้ในปี ส.ศ. 46 พวกเขาเรียกเมืองนี้ว่าทรีมอนทิอุม และตั้งให้เป็นเมืองหลวงของแคว้นเทรซ. ชาวโรมันต้องการอย่างยิ่งที่จะยึดครองเมืองนี้ เพราะมันตั้งอยู่บนเวีย ดีอาโกนาลิส ถนนสายสำคัญของแคว้นบอลข่าน. ชาวโรมันสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกอย่างเช่น สนามกีฬา, โรงละครกลางแจ้ง (ดูรูปด้านบน), โรงอาบน้ำมากมายหลายแห่ง, และอาคารแบบโรมันอื่น ๆ อีกมาก.
ลูเชียนแห่งซาโมซาตาได้พรรณนาถึงความงดงามตามธรรมชาติของเมืองนี้ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเขาสามลูก ณ บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาโรโดเป. (ดูกรอบ “เมืองแห่งขุนเขาทั้งเจ็ด” หน้า 18) เมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำมาริตซา ซึ่งมีที่ราบเทรซอันอุดมสมบูรณ์ผืนกว้างใหญ่อยู่เบื้องหน้า. ลูเชียนเขียนว่า ทรีมอนทิอุมเป็น “เมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและงามล้ำเลิศกว่าเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น!”
หลังจากอำนาจของโรมเสื่อมลงในยุคที่เรียกกันว่ายุคมืด ชาวสลาฟก็เข้ามาตั้งรกรากในแถบนี้. ตลอดช่วงสองสามศตวรรษต่อมา พวกนักรบครูเสดก็มาปล้นสะดมเมืองนี้ถึงสี่ครั้ง. จากนั้น ในศตวรรษที่ 14 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้นเมื่อเมืองนี้ตกเป็นของชาวเติร์ก. พวกเขาเปลี่ยนชื่อเมืองนี้ใหม่ว่าฟีลีเบ และยึดครองเมืองนี้ต่อไปจนถึงปี 1878. มัสยิดยูมายาที่มีหอสูงกับนาฬิกาแดดก็ยังตั้งตระหง่านอยู่เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงยุคสมัยนั้น.
เมื่อชาวรัสเซียเอาชนะชาวเติร์กได้ในปี 1878 เมืองนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อจากฟีลีเบไปเป็นพลอฟดิฟ. เมืองพลอฟดิฟได้รับ
การกระตุ้นทางเศรษฐกิจในปี 1892 เมื่อได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานแสดงสินค้า. นับแต่นั้นมา พลอฟดิฟก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าหลักของบัลแกเรีย. ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกนาซีเข้ายึดครองเมืองนี้ได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่ก็ถูกพวกโซเวียตขับไล่ออกไปในปี 1944. ครั้นแล้ว ในปี 1989 พลอฟดิฟก็หลุดพ้นจากมหาอำนาจที่เกรียงไกรอีกมหาอำนาจหนึ่งในคราวที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย. ผู้ครองเมืองพลอฟดิฟในอดีตบางคนอาจเป็นผู้ที่มีความจริงใจ กระนั้น ความไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของการปกครองของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่กีดขวางพวกเขาไว้.ข่าวดีมาถึงพลอฟดิฟ
ย้อนไปไกลถึงปี 1938 มีการก่อตั้งและจดทะเบียนนิติบุคคลซึ่งมีชื่อว่านาบลูดาเทลนา คูลา (หอสังเกตการณ์). นิติบุคคลนี้ได้จัดพิมพ์และจ่ายแจกคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในภาษาบัลแกเรีย. ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์พยายามต่อต้านขัดขวางพวกเขา พยานพระยะโฮวายังคงบอกข่าวดีแก่ชาวเมืองพลอฟดิฟต่อไปถึงเรื่องรัฐบาลทางภาคสวรรค์อันสมบูรณ์แบบที่กำลังจะมีมาในไม่ช้านี้. (มัดธาย 24:14) บางคนได้เริ่มตอบรับข่าวสารนี้. เวลานี้มีชาวพลอฟดิฟมากกว่า 200 คนที่กระตือรือร้นในการบอกคนอื่น ๆ ถึงเรื่องพระยะโฮวา และมีประชาคมของพยานพระยะโฮวาอยู่สองประชาคม.
พยานฯ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบัลแกเรีย. แต่เป็นจริงดังประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ที่มีชนหลากหลายเชื้อชาติ ท่ามกลางพวกเขาจึงมีผู้คนจากชาติต่าง ๆ หลายชาติด้วย อย่างเช่น ชาวแคนาดา, โปล, มอลโดวา, อเมริกัน, อังกฤษ, และอิตาลี. พวกเขาช่วยกันบอกเพื่อนบ้านเกี่ยวกับความหวังที่จะได้อยู่ภายใต้การปกครองอันสมบูรณ์พร้อม. ในตอนนั้น ไม่เพียงแต่ชาวเมืองพลอฟดิฟ แต่ประชาชนทั่วทั้งโลกจะมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่ง “ต่างคนก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน; และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว.”—มีคา 4:4
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
“เมืองแห่งขุนเขาทั้งเจ็ด”
นักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มาเยือนเมืองพลอฟดิฟ อาจรู้สึกว่ายากที่จะชี้ตำแหน่งเขาอันเลื่องชื่อเจ็ดลูกของเมืองนี้ หรือที่เรียกกันว่าเทเพ. เมื่อหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ได้มีการทลายเขาลูกหนึ่งคือมาร์โคโว เทเพ เนื่องจากการขยายเมือง. ส่วนเขาอีกหกลูกก็ยังเป็นพยานถึงเมืองพลอฟดิฟในยุคโบราณอยู่อย่างเงียบ ๆ.
เขาสามลูกที่นักท่องเที่ยวเห็นได้ชัด ๆ ก็คือบูนาร์ดจิก เทเพ, เจนเดม เทเพ, และซาฮัต เทเพ ซึ่งชาวเติร์กเรียกเช่นนั้นก็เพราะมีการสร้างหอนาฬิกาไว้บนเขาลูกนี้. ทรีมอนทิอุมตามที่ชาวโรมันเรียกพลอฟดิฟ ครอบคลุมพื้นที่เขาอีกสามลูกที่เหลือ คือจัมบาซ เทเพ ซึ่งเป็นเขาลูกที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุด, ทาคซิม เทเพ, และเนเบต เทเพ ซึ่งในภาษาตุรกีหมายถึง “ขุนเขาผู้พิทักษ์.”
การเดินเที่ยวชมเมืองทรีมอนทิอุมจะทำให้คนนั้นเข้าไปถึงส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองพลอฟดิฟในอดีต จากซากปรักหักพังตั้งแต่ยุคโบราณและกำแพงเมืองฟีลีโปโปลิส ไปจนถึงโรงละครของชาวโรมันที่ยังคงใช้งานอยู่ในเวลานี้. จุดที่น่าสนใจด้วยก็คือ บ้านเรือนของชาวบัลแกเรียในยุคฟื้นฟูที่ได้รับการสงวนรักษาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่บนถนนสายแคบ ๆ ที่ปูด้วยหิน.
[ที่มาของภาพหน้า 18]
© Caro/Andreas Bastian
[แผนที่หน้า 16]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
บัลแกเรีย
โซเฟีย
พลอฟดิฟ
[ที่มาของภาพหน้า 17]
Top: © Wojtek Buss/age fotostock; bottom: David Ewing/Insadco Photography/age fotostock