การเดินเรือข้ามหลังคาโลก
การเดินเรือข้ามหลังคาโลก
นักเดินเรือในอดีตใฝ่ฝันที่จะค้นพบเส้นทางเดินเรือทางเหนือที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก แต่ต้องเผชิญข้อท้าทายที่น่าพรั่นพรึง นั่นเป็นเพราะเส้นทางในมหาสมุทรอาร์กติกมีน้ำแข็งขวางกั้นอยู่.
ถึงกระนั้น ผู้คนก็ยังต้องการค้นหาเส้นทางลัดข้ามขั้วโลกเหนือ. พอถึงศตวรรษที่ 16 โปรตุเกสและสเปนได้ผูกขาดเส้นทางการค้าไปยังดินแดนแถบตะวันออกซึ่งอ้อมทางใต้สุดของทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้. พ่อค้าชาติอื่น ๆ จำเป็นต้องหาเส้นทางทางเหนือหากต้องการจะมีส่วนแบ่งทางการค้ากับโลกตะวันออก. หลายคนได้พยายาม ต่อไปนี้เป็นบางตัวอย่าง.
ชาวอังกฤษ: ในปี 1553 เซอร์ฮิว วิลลาบีและริชาร์ด แชนเซลเลอร์ได้นำการสำรวจครั้งแรกของอังกฤษ. หลังจากเรือของพวกเขาพลัดหลงกันในพายุ วิลลาบีจำเป็นต้องพักช่วงฤดูหนาวบนชายฝั่งที่ปราศจากพืชพรรณของคาบสมุทรโคลา ทางเหนือสุดของรัสเซีย. เนื่องจากไม่พร้อมรับสภาพแวดล้อมที่ทารุณ เขาและลูกเรือจึงเสียชีวิตทั้งหมด. ส่วนแชนเซลเลอร์เทียบท่าในเมืองอาร์ฮันเกลสก์. จากที่นั่น เขาเดินทางไปมอสโกตามคำเชิญของซาร์อีวานที่ 4 วาซีเลียวิช ผู้โหดร้าย. แชนเซลเลอร์ไม่พบเส้นทางไปเอเชีย แต่เขาได้เปิดทางสำหรับการค้าขายระหว่างอังกฤษและรัสเซีย.
ชาวดัตช์: ในปี 1594 วิลเลม บาเร็นตส์แล่นเรือรอบแรกไปยังหมู่เกาะโนวายาซิมลียา. อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1596 ในการเดินทางรอบที่สาม ขณะแล่นอ้อมด้านเหนือสุดของหมู่เกาะของรัสเซีย เรือของเขาได้เข้าไปติดอยู่ในน้ำแข็งและได้รับความเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้. หลังจากต้องอดทนตลอดช่วงฤดูหนาวอันแสนทารุณในที่กำบังซึ่งสร้างด้วยไม้ที่ลอยมาตามน้ำและกินเนื้อหมีขั้วโลกประทังชีวิต ลูกเรือของบาเร็นตส์กลับบ้านได้ด้วยเรือเล็กสองลำ. บาเร็นตส์ไม่รอดชีวิตกลับมา.
ชาวรัสเซีย: นักสำรวจชาวรัสเซียได้ทำการสำรวจขนานใหญ่ในไซบีเรียและแถบตะวันออกไกลของรัสเซีย. ภายในเวลาเพียง 60 ปี ตั้งแต่ปี 1581 ถึง 1641 พวกเขาออกเดินทางตั้งต้นที่เทือกเขาอูรัลไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก. ประมาณเวลานั้น ชาวคอสแซกแล่นเรือตามแม่น้ำในไซบีเรียเพื่อไปยังมหาสมุทรอาร์กติก. พวกเขาอ้างสิทธิ์เขตแดนในไซบีเรีย
ให้รัสเซีย และบุกเบิกการขนส่งตามชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย. ในปี 1648 เรือของรัสเซียแล่นผ่านช่องแคบซึ่งในเวลาต่อมาเรียกว่าช่องแคบเบริง ตั้งชื่อตามวีตุส เบริง นักสำรวจชาวเดนมาร์ก.การสำรวจในเวลาต่อมา
ตั้งแต่ปี 1733 ถึง 1743 ลูกเรือเกือบหนึ่งพันคนภายใต้การนำของเบริงถูกแบ่งเป็นเจ็ดกลุ่มเพื่อออกสำรวจชายฝั่งอาร์กติกและแปซิฟิกของรัสเซีย. เรือของพวกเขาเข้าไปติดอยู่ในน้ำแข็งครั้งแล้วครั้งเล่า และกะลาสีหลายคนต้องเสียชีวิต. แต่การสำรวจครั้งนั้นก็ได้ช่วยสร้างแผนที่ชายฝั่งอาร์กติกเกือบทั้งหมด. ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ รวมทั้งแผนผัง, แนวหยั่งน้ำ, และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำแข็ง ปรากฏว่ามีค่าเหลือประมาณสำหรับนักเดินเรือแถบอาร์กติกรุ่นต่อมา.
การเดินเรือในแถบอาร์กติกทั้งหมดนี้ล้วนใช้เรือที่ต่อด้วยไม้. แต่การสำรวจของเบริงแสดงชัดว่าเรือไม้ไม่เหมาะเลยสำหรับการเดินทางในเส้นทางทะเลเหนือ. * ในปี 1778 นักสำรวจชาวอังกฤษชื่อเจมส์ คุกได้ข้อสรุปเดียวกันเมื่อเขาแล่นผ่านช่องแคบเบริงไปทางตะวันตก แต่แล้วก็พบว่าน้ำแข็งขวางกั้นเส้นทางของเขา. อีกหนึ่งศตวรรษผ่านไปก่อนที่นิลส์ อะดอล์ฟ เอริก นอร์เดนชูลด์ผู้มีเชื้อสายฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในการแล่นผ่านเส้นทางนี้โดยใช้เรือกลไฟ.
ความชำนาญของชาวรัสเซีย
หลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 การขนส่งทางเรือในแถบอาร์กติกของรัสเซียทั้งหมดถูกห้ามยกเว้นเรือของรัสเซีย. ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา สหภาพโซเวียตได้พัฒนาเส้นทางทะเลเหนือและสร้างท่าเรือรองรับการตั้งชุมชนอุตสาหกรรมแห่งใหม่. ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงมีความชำนาญในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือแถบอาร์กติก.
ในระหว่างสงครามเย็น เส้นทางทะเลเหนือก็ยังคงห้ามเรือต่างชาติผ่าน. อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีการปฏิรูปทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัสเซียจึงสนับสนุนการขนส่งทางเรือในเส้นทางนี้. ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงถึงผลประโยชน์ที่ได้.
ในฤดูร้อนปี 2009 เรือสินค้าเยอรมันสองลำแล่นผ่านช่องแคบเบริงแล้วไปทางตะวันตกเลียบชายฝั่งทางเหนือของเอเชียและยุโรปเพื่อไปยังเนเธอร์แลนด์ ซึ่งตลอดเส้นทางแทบไม่พบน้ำแข็งเลย. นี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทเดินเรือที่ไม่ใช่สัญชาติรัสเซียได้เดินเรือตลอดเส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ. การเดินทางครั้งนี้ช่วยย่นระยะทางประมาณ 3,000 ไมล์ทะเลและประหยัดเวลาได้สิบวัน. บริษัทที่ทำการเดินเรือประมาณว่าทางบริษัทได้ประหยัดเงินราว ๆ 300,000 ยูโร (สมัยนั้นเท่ากับ 15,000,000 บาท) ต่อเรือหนึ่งลำโดยการใช้เส้นทางลัดแถบขั้วโลก.
ทุกวันนี้ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกกำลังหดตัวอย่างรวดเร็ว. ผลที่ตามมาก็คือ อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ของมหาสมุทรนี้มีเรือแล่นผ่านได้ในทุกฤดูร้อน. * แม้เรื่องนี้จะเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าน้ำแข็งยังละลายอยู่เรื่อย ๆ เรือจะสามารถเลี่ยงชายฝั่งน้ำตื้นของรัสเซียแล้วแล่นตรงจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังแปซิฟิกโดยผ่านขั้วโลกเหนือได้เลย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 “เส้นทางทะเลเหนือ” เป็นชื่อที่ชาวรัสเซียเรียกเส้นทางนี้ ซึ่งผู้คนในที่อื่นจะเรียกว่าเส้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ.
^ วรรค 14 เนื่องด้วยเหตุนี้และปัจจัยอื่น ๆ ฤดูการเดินเรือจึงยาวนานขึ้นเกือบสามเท่าในภาคตะวันออกของอาร์กติกและมากกว่าสองเท่าในภาคตะวันตกของอาร์กติก.
[แผนที่หน้า 15]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
เส้นทางเดินเรือของ
เซอร์ฮิว วิลลาบีและริชาร์ด แชนเซลเลอร์
วิลเลม บาเร็นตส์
วีตุส เบริง
นิลส์ อะดอล์ฟ เอริก นอร์เดนชูลด์
ขอบเขตของน้ำแข็ง
[แผนที่]
มหาสมุทรอาร์กติก
ขั้วโลกเหนือ
ขอบเขตที่น้ำแข็งปกคลุมอย่างถาวร
ขอบเขตน้ำแข็งในฤดูร้อน
ขอบเขตน้ำแข็งในฤดูหนาว
อาร์กติกเซอร์เคิล
สวีเดน
กรีนแลนด์
แคนาดา
อะแลสกา
ช่องแคบเบริง
รัสเซีย
ไซบีเรีย
เทือกเขาอูรัล
โนวายาซิมลียา
คาบสมุทรโคลา
อาร์ฮันเกลสก์
มอสโก
[ภาพหน้า 16]
น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกกำลังหดตัวอย่างรวดเร็ว
[ภาพหน้า 14]
Library and Archives Canada/Samuel Gurney Cresswell collection/C-016105