ความเชื่อและเหตุผลไปด้วยกันได้ไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
ความเชื่อและเหตุผลไปด้วยกันได้ไหม?
เอ. ซี. เกรย์ลิง นักปรัชญาชาวอังกฤษเขียนไว้ว่า “ความเชื่อคือการปฏิเสธเหตุผล.” ข้อเขียนของเขาพรรณนาความรู้สึกของนักเขียนและนักปรัชญาจำนวนนับไม่ถ้วนตลอดหลายศตวรรษที่อ้างว่าความเชื่อและเหตุผลไปด้วยกันไม่ได้.
ความเชื่อทางศาสนาบางอย่างก็ไร้เหตุผลจริง ๆ. แต่ขอพิจารณาเรื่องนี้: ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์หลายเรื่องที่เคยยึดถือกันก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง. นั่นหมายความไหมว่าความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ทุกอย่างผิด หรือไม่มีเหตุผล? ทำไมไม่มองความเชื่อทางศาสนาแบบเดียวกันล่ะ? ที่จริง ความเชื่อที่พรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้มีขึ้นโดยปราศจากความรู้ แต่ความเชื่อนั้นอาศัยความรู้และเหตุผลอย่างหนักแน่น. ขณะที่คุณทบทวนหลักฐานนี้ โปรดสังเกตว่าความเชื่อแท้และเหตุผลเข้ากันได้เพียงไร.
ความเชื่อที่ยึดมั่นจริง ๆ ในเหตุผล
ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ถ้าการนมัสการของคุณจะเป็น “ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้” การนมัสการนั้นก็ต้อง “เป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสามารถในการใช้เหตุผล ของพวกท่าน.” พูดง่าย ๆ ก็คือ คุณต้องนมัสการพระเจ้า “ในวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้รู้จักคิด.” (โรม 12:1, เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล) ดังนั้น ความเชื่อตามที่พรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ความงมงายและไร้เหตุผล. และความเชื่อแท้ไม่ใช่เชื่ออย่างหลับหูหลับตา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คุณต้องได้คิดถึงเรื่องนั้นอย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งนั่นทำให้คุณวางใจพระเจ้าและพระคำของพระองค์ที่มีเหตุผลอย่างหนักแน่น.
แน่นอน ถ้าคุณจะใคร่ครวญเหตุผลได้อย่างถูกต้อง คุณต้องมีข้อมูลที่ไม่ผิดพลาด. แม้แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพมากที่สุดซึ่งออกแบบมาโดยอาศัยหลักตรรกะจะได้ผลลัพธ์แปลก ๆ ถ้าป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าไป. เช่นเดียวกัน คุณภาพความเชื่อของคุณย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณได้ยินได้ฟังมา หรือข้อมูลที่คุณป้อนเข้าสู่จิตใจว่าไว้ใจได้ขนาดไหน. เหมาะสมแล้วที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความเชื่อเกิดจากสิ่งที่ได้ยิน.”—โรม 10:17
ข้อเรียกร้องพื้นฐานของความเชื่อคือ “ความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:4) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า มีแต่ความจริงเท่านั้นที่ “จะทำให้พวกเจ้าเป็นอิสระ” จากความเชื่อผิด ๆ ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์หรือศาสนา. (โยฮัน 8:32) คัมภีร์ไบเบิลเตือนคุณไม่ให้เชื่อ “คำบอกเล่าทุกคำ.” (สุภาษิต 14:15) แต่บอกว่าคุณควรจะ “ตรวจดูทุกสิ่งให้แน่ใจ” หรือตรวจสอบสิ่งที่คุณได้ยินก่อนจะเชื่อ. (1 เทสซาโลนิเก 5:21) ทำไมคุณควรค้นคว้าและตรวจสอบความเชื่อของคุณ? เพราะความเชื่อที่อาศัยความเท็จก็คือการหลงผิด. บางคนที่มีใจพร้อมจะยอมรับฟังในเมืองเบโรยาวางตัวอย่างที่ดีในการได้มาซึ่งความเชื่อแท้. แม้ว่าคนเหล่านี้ต้องการเชื่อสิ่งที่มิชชันนารีคริสเตียนสอน พวกเขาก็ตั้งใจ “ค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุกวันเพื่อดูว่าถ้อยคำเหล่านั้นจะเป็นไปตามพระคัมภีร์หรือไม่.”—กิจการ 17:11
การสร้างความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล
แต่จะทำอย่างไรถ้าคุณไม่แน่ใจว่าคัมภีร์ไบเบิลน่าเชื่อถือ? คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นแหล่งความรู้ที่ *
ถูกต้อง? ก็คุณทำอย่างไรล่ะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในบุคคลอื่น? แน่นอน โดยการทำความรู้จักพวกเขา ดูสิ่งที่เขาทำสักระยะหนึ่ง และดูการประพฤติของเขาว่าเป็นอย่างไร. ทำไมไม่ทำอย่างเดียวกันกับคัมภีร์ไบเบิล?คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาความเชื่อแท้ว่า “คือความมั่นใจโดยมีเหตุผลหนักแน่นว่าสิ่งที่หวังไว้จะเกิดขึ้น และเป็นความแน่ใจโดยมีหลักฐานชัดเจนว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีจริง.” (ฮีบรู 11:1) เห็นได้ชัดว่า แทนที่จะเป็นคนเชื่ออะไรง่าย ๆ คนที่มีความเชื่อแท้ต้องตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน. การพิจารณาเหตุผลโดยใช้ข้อมูลเช่นนั้นทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีอยู่จริง.
แต่จะว่าอย่างไรถ้าสิ่งที่คุณเรียนรู้ดูเหมือนขัดแย้งกับบางสิ่งที่คุณเชื่อมั่น? คุณควรจะมองข้ามไหม? ไม่อย่างแน่นอน. บางครั้งอาจมีเหตุผลที่ดีมากที่จะพิจารณาหลักฐานอันหนักแน่นซึ่งดูเหมือนขัดกับสิ่งที่คุณเชื่อ. ในคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าสัญญาจะประทานบำเหน็จแก่บุคคลที่จริงใจซึ่งแสวงหาความจริง โดยทรงประทานความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการคิดให้เขา.—สุภาษิต 2:1-12
ความเชื่อที่มีพื้นฐานอยู่บนคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลย่อมไปด้วยกันได้กับเหตุผล. คุณล่ะมีความเชื่อแบบไหน? หลายคน “สืบทอด” ศาสนาของตนมาจากบรรพบุรุษ และไม่เคยตรวจสอบศาสนาโดยใช้เหตุและผลเลย. กระนั้น ไม่ได้เป็นการลบหลู่หากจะตรวจสอบสิ่งที่คุณเชื่อเพื่อ “ทำให้รู้แน่” ว่าความคิดของคุณสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้า. (โรม 12:2) คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนเราให้ “ตรวจดูว่าถ้อยคำนั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่” (1 โยฮัน 4:1) ถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณจะสามารถ “ปกป้องความหวังของพวกท่านโดยชี้แจงแก่ทุกคนที่อยากรู้ว่าทำไมพวกท่านหวังอย่างนั้น” แม้ความเชื่อจะถูกท้าทายก็ตาม.—1 เปโตร 3:15
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือเพื่อจะหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ในเรื่องคัมภีร์ไบเบิล โปรดเขียนถึงผู้จัดพิมพ์วารสารนี้.
คุณเคยสงสัยไหม?
• คัมภีร์ไบเบิลไม่สนับสนุนให้เราใช้เหตุผลไหม?—โรม 12:1, 2
• ความรู้ประเภทใดเป็นสิ่งสำคัญถ้าคุณจะพัฒนาความเชื่อแท้?—1 ติโมเธียว 2:4
• เราเรียนรู้อะไรได้จากคำนิยามความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล?—ฮีบรู 11:1
[คำโปรยหน้า 29]
พระเจ้าประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่กระตือรือร้นแสวงหาความจริง