เป็นความผิดของศาสนาหรือ?
เป็นความผิดของศาสนาหรือ?
โจนาทาน สวิฟท์นักเทศน์และนักเขียนยุคต้นศตวรรษที่ 18 เขียนไว้ว่า “เรามีศาสนามากพอที่จะทำให้เราเกลียดกัน แต่ก็ไม่มากพอจะทำให้เรารักกัน.” หลายคนมีความเห็นว่าศาสนาทำให้เกิดความแตกแยกแทนที่จะสร้างความปรองดอง. แต่ไม่ใช่ทุกคนเห็นด้วย.
ยกตัวอย่าง ขอพิจารณาบทสรุปโดยกลุ่มนักวิจัยแห่งแผนกสันติศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด สหราชอาณาจักร. นักวิจัยกลุ่มนี้ได้รับมอบหมายจากบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งบริเตนให้หาคำตอบที่มีเหตุผลสำหรับคำถามที่ว่าศาสนาเป็นพลังที่ทำให้เกิดสันติภาพหรือสงคราม.
นักวิจัยได้กล่าวในรายงานที่ตีพิมพ์ว่า “หลังจากตรวจสอบบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา เราลงความเห็นว่า ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา สงครามศาสนาจริง ๆ มีน้อยมาก.” ทีมสืบสวนได้อธิบายว่าสงครามที่เกิดขึ้นบางแห่ง “มักจะถูกวาดภาพโดยสื่อมวลชนว่าเป็นสงครามศาสนา หรือเกิดจากความแตกต่างกันในทางศาสนา แต่ที่แท้แล้วเป็นสงครามซึ่งเกิดจากความคลั่งชาติ, การแบ่งแยกดินแดน, หรือเพื่อป้องกันตัวเอง.”
อย่างไรก็ตาม อีกหลายคนแย้งว่าพวกนักเทศน์นักบวชเห็นชอบด้วยการนิ่งเฉยหรือไม่ก็สนับสนุนการสู้รบหลายต่อหลายครั้งอย่างแข็งขัน ดังที่แสดงไว้ในข้อความต่อไปนี้:
• “ศาสนาดูเหมือนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงแทบทุกแห่ง. . . . ในปีหลัง ๆ นี้ ความรุนแรงด้านศาสนาได้ปะทุขึ้นในหมู่คริสเตียนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐ, ในหมู่ชาวมุสลิมและชาวยิวที่โกรธแค้นในตะวันออกกลาง, ในหมู่ชาวฮินดูและชาวมุสลิมที่ขัดแย้งกันในเอเชียใต้, และตามชุมชนศาสนาพื้นบ้านในแอฟริกาและอินโดนีเซีย. . . . คนเหล่านี้ต่างก็อ้างศาสนาเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและเพื่อแก้แค้นกัน.”—การอ้างพระดำริของพระเจ้าเพื่อคุกคามผู้อื่น—ความรุนแรงด้านศาสนาที่ผุดขึ้นทั่วโลก (ภาษาอังกฤษ)
• “น่าแปลก ชาติที่คลั่งไคล้ศาสนามักจะมีปัญหาทางสังคมที่เลวร้ายที่สุด. . . . การที่ศาสนาแทรกซึมอยู่ทั่วไปไม่สามารถจะป้องกันอาชญากรรมที่รุนแรงได้เลย. . . . หลักฐานดูเหมือนชัดเจน: ถ้าต้องการสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย, น่าอยู่, เป็นระเบียบ, และ ‘มีความเจริญ’ จงหลีกเว้นแหล่งที่คนเคร่งศาสนาอยู่กัน.”—ความเกลียดชังอย่างบริสุทธิ์ (ภาษาอังกฤษ)
• “พวกแบพติสต์เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการต่อสู้มากกว่าการสร้างสันติ. . . . ในศตวรรษที่สิบเก้า เมื่อเกิดประเด็นในเรื่องทาส [ที่อเมริกา] และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่แบ่งแยกนิกายต่าง ๆ แล้วต่อมาก็แบ่งแยกคนทั้งชาติ ทั้งแบพติสต์ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ต่างก็สนับสนุนการทำสงครามว่าเป็นสงครามศาสนาที่ชอบธรรมและทึกทักว่าพระเจ้าอยู่ฝ่ายตน. นอกจาก
นั้น พวกแบพติสต์ยังได้สนับสนุนชาติในการทำสงครามกับอังกฤษ (ปี 1812), สงครามกับเม็กซิโก (ปี 1845), และสเปน (ปี 1898) โดยให้เหตุผลว่าสงครามสองครั้งหลังนี้มีความถูกต้อง ‘ด้วยเหตุผลหลักก็คือเพื่อให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ผู้คนที่ถูกกดขี่และเพื่อการเผยแพร่ศาสนาจะกว้างขวางยิ่งขึ้น.’ จุดสำคัญไม่ใช่ว่าพวกแบพติสต์ต้องการสงครามมากกว่าสันติภาพ แต่อยู่ที่ว่า เมื่อเกิดสงคราม ส่วนใหญ่แล้วพวกแบพติสต์จะให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในสงคราม.”—รีวิว แอนด์ เอกซ์โปซิเตอร์—วารสารเทววิทยาของแบพติสต์• “นักประวัติศาสตร์พบว่าแรงจูงใจทางศาสนาที่จะสู้รบกันมีมาแทบทุกยุค ทุกชนชาติและทุกวัฒนธรรม และโดยทั่วไปแล้วมีอยู่ในทั้งสองฝ่ายที่ทำสงครามกัน. เสียงร้องว่า ‘พระเจ้าอยู่ฝ่ายเรา’ เป็นคำปลุกเร้าที่เก่าแก่ที่สุดและได้ผลที่สุดเพื่อกระตุ้นให้ห้ำหั่นกัน.”—ยุคแห่งสงครามศาสนา 1000-1650—สารานุกรมสงครามและวัฒนธรรมโลก (ภาษาอังกฤษ)
• “ผู้นำศาสนา . . . ต้องใคร่ครวญอย่างจริงจังมากขึ้นที่ฝ่ายตนไม่ได้นำหน้าให้ดีกว่านี้ และไม่ได้สอนแก่นของความเชื่อทางศาสนาของตน. . . . เป็นความจริงที่ว่าศาสนาทุกศาสนาพยายามสร้างสันติภาพ แต่น่าสงสัยว่าศาสนาทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จหรือไม่.”—ความรุนแรงในนามของพระเจ้า—ศาสนาในยุคแห่งความขัดแย้ง
ตลอดประวัติศาสตร์ นักเทศน์นักบวชของคริสตจักรต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนจักร (คาทอลิก, ออร์โทด็อกซ์, และโปรเตสแตนต์) ได้มอบหมายบาทหลวงและนักเทศน์จำนวนมากมายให้ปลุกขวัญและกำลังใจแก่กองทัพและสวดภาวนาให้แก่ผู้ตายและผู้ที่จวนจะตายของทั้งสองฝ่ายที่ทำสงคราม. โดยการสนับสนุนเช่นนี้ พวกเขาได้เห็นชอบกับการนองเลือดและอวยชัยให้พรกองทัพทั้งมวล.
บางคนอาจยังโต้แย้งว่าสงครามไม่ใช่ความผิดของศาสนา. แต่คำถามคือ ศาสนาประสบความสำเร็จไหมในการทำให้มนุษยชาติปรองดองกัน?
[กรอบหน้า 5]
“ศาสนาจารย์ ดร. ชาลส์ เอ. อีตัน นักเทศน์แห่งโบสถ์แบพติสต์ถนนแมดิสัน ประกาศจากธรรมาสน์เมื่อวานนี้ว่าเขาจะเปลี่ยนสำนักผู้สอนศาสนาของโบสถ์ให้เป็นที่สำหรับเกณฑ์ทหารของคนที่ต้องการสมัครเข้ากองทัพบกหรือกองทัพเรือ.
“เขาเป็นหนึ่งในหมู่นักเทศน์กว่าสิบคนในเมืองนี้ที่เทศน์เรื่องสงคราม ณ การนมัสการภาคเช้าของวันอาทิตย์เป็นประจำ และเขาได้ปลุกเร้าชายและหญิงให้แสดงความจงรักภักดีต่อชาติและประชาธิปไตย ด้วยการรับใช้ชาติในสงครามให้เร็วที่สุดเมื่อมีโอกาส. มีการประดับธงตามโบสถ์หลายแห่ง.”—“เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์” 16 เมษายน 1917