ความช่วยเหลือสำหรับผู้โศกเศร้า
ความช่วยเหลือสำหรับผู้โศกเศร้า
“พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:18
หลังจากคนที่คุณรักเสียชีวิต คุณอาจเกิดความรู้สึกที่รุนแรงหลายอย่าง เช่น ตกใจ, สับสนงุนงง, เสียใจ, และอาจรู้สึกผิดหรือโกรธด้วยซ้ำ. ดังที่กล่าวในบทความก่อน แต่ละคนแสดงความโศกเศร้าไม่เหมือนกัน. ดังนั้น คุณอาจไม่เกิดความรู้สึกทุกอย่าง ตามที่กล่าวมา และคุณอาจแสดงความเศร้าต่างไปจากคนอื่น. อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณต้องการจะแสดงความเศร้าออกมา ไม่ผิดที่คุณทำเช่นนั้น.
“จงปล่อยให้ตัวเองเศร้า!”
อีลอยซา แพทย์หญิงที่เรากล่าวถึงตอนต้น พยายามข่มห้ามความรู้สึกของตัวเองหลังจากแม่ของเธอเสียชีวิต. เธอพูดว่า “ตอนแรกดิฉันร้องไห้ แต่ไม่นานดิฉันพยายามกลั้นความรู้สึกไว้ เหมือนกับตอนที่คนไข้เสียชีวิต. สุขภาพของดิฉันทรุดลงมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุนั้น. ดิฉันขอแนะนำผู้ที่สูญเสียคนที่ตนรักว่า จงปล่อยให้ตัวเองเศร้า! ระบายความโศกเศร้าออกมาจนรู้สึกดีขึ้น. แล้วคุณจะคลายเศร้าในที่สุด.”
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เวลาผ่านไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ คุณอาจรู้สึกเหมือนเซซีเลีย ซึ่งสามีเสียชีวิตเพราะมะเร็ง. เธอบอกว่า “บางครั้ง ดิฉันรู้สึกผิดหวังกับตัวเองเพราะดูเหมือนว่าดิฉันไม่ได้รู้สึกดีขึ้นเลยอย่างที่บางคนคาดหมายไว้ว่าน่าจะดีขึ้นได้แล้ว.”
ถ้าคุณมีความคิดอย่างนั้น จงพยายามจำไว้ว่าไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดในการแสดงความโศกเศร้า. บางคนอาจผ่านความโศกเศร้าไปได้ค่อนข้างง่าย. แต่บางคนทำอย่างนั้นไม่ได้. ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณจะเร่งขั้นตอนไม่ได้ จึงไม่ควรคิดว่าต้องทำตามกำหนด “เส้นตาย” ซึ่งพอถึงตอนนั้นแล้วคุณน่าจะรู้สึกดีขึ้น. *
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าความโศกเศร้าไม่จางหายไปสักที และคุณกำลังหมดเรี่ยวแรงเพราะความเศร้าเสียใจล่ะ? คุณอาจรู้สึกเหมือนยาโคบ ชายผู้ซื่อสัตย์ซึ่งเมื่อมีคนมาบอกว่าโยเซฟลูกชายของท่านเสียชีวิตแล้ว ท่านกลับ “ไม่ยอมรับการปลอบโยน.” (เยเนซิศ 37:35, ฉบับ R73) ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะไม่จมอยู่กับความโศกเศร้าเสียใจ?
ดูแลตัวเอง. เซซีเลียพูดว่า “บางครั้ง ดิฉันรู้สึกเหนื่อย
ล้าเหลือเกินและรู้ตัวว่ามันเกินขีดที่จะรับได้แล้ว.” อย่างที่เธอให้ความเห็น ความโศกเศร้าทำให้หมดแรงทั้งทางกายและจิตใจ. ดังนั้น คุณควรดูแลสุขภาพของคุณเป็นพิเศษ. พักผ่อนให้พอ และกินอาหารที่มีคุณค่า.จริงอยู่ คุณอาจไม่อยากกินอาหาร ไม่อยากไปจ่ายตลาดและทำอาหาร. กระนั้น การละเลยไม่กินอาหารที่มีคุณประโยชน์อาจเป็นเหตุให้คุณติดโรคหรือเจ็บป่วยได้ง่าย และนั่นมีแต่ทำให้คุณเป็นทุกข์มากขึ้น. อย่างน้อยก็พยายามกินอาหารบ้างเพื่อรักษาสุขภาพ. *
ถ้าเป็นไปได้ก็ออกกำลังกายบ้าง แม้จะแค่เดินก็ยังดี. กิจกรรมที่ต้องออกกำลังจะทำให้คุณได้ออกไปนอกบ้าน. ยิ่งกว่านั้น การออกกำลังพอประมาณจะช่วยในการหลั่งเอนดอร์ฟิน สารเคมีในสมองซึ่งช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น.
ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น. เรื่องนี้อาจสำคัญเป็นพิเศษเมื่อคู่ของตนเสียชีวิต. บางทีอาจเป็นงานบางอย่างที่คู่ของคุณเคยเอาใจใส่ และมาตอนนี้งานนั้นไม่มีคนทำ. ตัวอย่างเช่น ถ้าสามีดูแลด้านการเงิน หรือภรรยาทำงานบ้าน ตอนแรกคุณอาจรู้สึกว่ายากที่ตัวเองจะทำงานนั้น. ถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ช่วยคุณได้มากอาจเป็นคำแนะนำอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาจากเพื่อน.—สุภาษิต 25:11
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า เพื่อนแท้ “จะช่วยเพื่อนในยามลำบากอย่างที่พี่น้องช่วยกัน.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) ดังนั้น อย่าปลีกตัวจากเพื่อน ๆ โดยเกรงว่าคุณจะเป็นภาระแก่เขา. ในทางกลับกัน การติดต่อคบหากับพวกเขาอาจเป็นเหมือนสะพานที่ช่วยคุณผ่านพ้นช่วงความโศกเศร้าไปสู่การยอมรับความจริง. หลังจากการตายของแม่ หญิงสาวคนหนึ่งชื่อแซลลีพบว่าการคบหากับคนอื่นทำให้เธอรู้สึกเบิกบาน. เธอบอกว่า “เพื่อนดิฉันหลายคนชอบพาดิฉันไปร่วมงานสังสรรค์ด้วยกัน. นั่นช่วยดิฉันให้ทนความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายได้. ดิฉันซาบซึ้งเสมอเมื่อผู้คนถามคำถามง่าย ๆ เช่น ‘คุณเป็นอย่างไรบ้างหลังจากแม่ของคุณเสียชีวิต?’ ฉันรู้สึกว่าการได้พูดถึงแม่ช่วยดิฉันคลายความโศกเศร้าได้.”
ยอมให้ตัวเองระลึกถึงผู้ตาย. พยายามนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขซึ่งคุณได้อยู่กับคนที่คุณรัก โดยอาจดูรูปถ่าย. จริงอยู่ การจดจำช่วงเวลาเหล่านั้นอาจทำให้คุณเศร้าใจ. แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำเหล่านี้อาจช่วยคุณให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น แทนที่จะทำให้คุณปวดร้าว.
คุณอาจลองเขียนบันทึกประจำวัน. คุณอาจเขียนเกี่ยวกับความทรงจำดี ๆ และแม้แต่เรื่องที่คุณคิดว่าคุณน่าจะพูดกับผู้ที่คุณรักตอนที่เขามีชีวิตอยู่. คุณอาจเข้าใจความรู้สึกของตัวเองดีขึ้นถ้าคุณได้อ่านสิ่งที่คุณเขียน. การเขียนอาจเป็นการระบายความรู้สึกของคุณได้อีกทางหนึ่งด้วย.
แล้วจะว่าอย่างไรกับการเก็บของที่ระลึก? ความคิดเห็นเรื่องนี้แตกต่างกัน และไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจากแต่ละคนโศกเศร้าไม่เหมือนกัน. บางคนรู้สึกว่าการเก็บของใช้ส่วนตัวของคนที่เสียชีวิตไปทำให้เขาฟื้นตัวได้ยาก. ส่วนบางคนพบว่ามันช่วยได้. แซลลีซึ่งกล่าวถึงข้างต้นพูดว่า “ดิฉันเก็บของที่เคยเป็นของแม่ไว้หลายชิ้น. มันช่วยให้ดิฉันรับมือได้!” *
หมายพึ่ง “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.” คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา, และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) การอธิษฐานถึงพระเจ้าไม่ใช่เป็นเพียงวิธีทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น. การอธิษฐานเป็นการสื่อความที่จำเป็นจริง ๆ กับ “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง ผู้ทรงชูใจเราทุกครั้งที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก.”—2 โครินท์ 1:3, 4
คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าให้การชูใจมากที่สุด. คริสเตียนอัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความหวังในพระเจ้า . . . คือหวังว่าทั้งคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรมจะกลับเป็นขึ้นจากตาย.” (กิจการ 24:15) การคิดถึงความหวังที่ยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายย่อมเป็นการชูใจที่ดีที่สุดในระหว่างที่ยังเศร้าใจเนื่องจากบุคคลซึ่งเป็นที่รักเสียชีวิตไป. * ลอเรน หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งน้องชายวัยรุ่นของเธอเสียชีวิตในอุบัติเหตุพบว่าเรื่องนี้ชูใจได้จริง. เธอบอกว่า “ไม่ว่าดิฉันจะรู้สึกเศร้าเพียงใด ดิฉันก็จะหยิบคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาอ่าน แม้จะเป็นเพียงข้อเดียวก็ ตาม. ดิฉันเลือกข้อที่ให้กำลังใจเป็นพิเศษ และดิฉันจะอ่านซ้ำ ๆ. ตัวอย่างเช่น ดิฉันได้รับการปลอบโยนจากคำตรัสของพระเยซูต่อมาร์ทาหลังจากลาซะโรเสียชีวิต. พระองค์ตรัสว่า ‘น้องชายของเจ้าจะเป็นขึ้นจากตาย.’ ”—โยฮัน 11:23
“คุณไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มันครอบงำคุณ”
แม้มันจะยาก แต่การพยายามผ่านช่วงแห่งความเศร้าโศกจะช่วยคุณดำเนินชีวิตต่อไป. อย่ารู้สึกผิด โดยคิดว่าถ้าคุณทำอย่างนั้นจะเหมือนกับคุณทรยศคนที่คุณรักหรือลืมเขาเสียแล้ว. แท้ที่จริง คุณไม่มีวัน ลืมคนที่คุณรักไปได้หรอก. บางครั้งบางคราว ความทรงจำจะหวนกลับมา แต่ทีละเล็กทีละน้อย อาการที่เป็นทุกข์โศกเศร้าก็จะบรรเทาลง.
อนึ่ง คุณสามารถจะคิดถึงความทรงจำทั้งดีและร้ายได้ด้วยความสุขใจ. ตัวอย่างเช่น แอชลีย์ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น พูดอย่างนี้ “ดิฉันยังจำวันที่แม่ตายได้. แม่ดูเหมือนมีอาการดีขึ้นและลุกจากที่นอนได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายวัน. วันนั้น ขณะพี่สาวของดิฉันกำลังหวีผมให้แม่ เราสามคนหัวเราะอะไรบางอย่าง และดิฉันไม่ได้เห็นรอยยิ้มของแม่เหมือนวันนั้นมานานแล้ว. แม่มีความสุขมากตอนที่ได้อยู่กับลูกสาว.”
นอกจากนั้น คุณจะได้คิดใคร่ครวญบทเรียนอันล้ำค่าที่คุณได้รับเมื่ออยู่กับคนที่คุณรักอีกด้วย. ตัวอย่างเช่น แซลลีกล่าวว่า “แม่เป็นครูที่เก่งมาก. แม่ให้คำแนะนำที่ดีโดยไม่ทำให้รู้สึกว่ากำลังให้คำแนะนำอยู่ และแม่สอนวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้องโดยทำให้ดิฉันรู้สึกว่านั่นเป็นการตัดสินใจของดิฉันเอง ไม่ใช่ทำตามที่แม่หรือพ่อบอก.”
ความทรงจำเกี่ยวกับคนที่คุณรักอาจช่วยให้คุณผ่านพ้นความเศร้าไปได้. นั่นคือสิ่งที่ชายหนุ่มชื่ออะเล็กซ์ประสบ. เขาบอกว่า “หลังจากพ่อตาย ผมตั้งใจจะดำเนินชีวิตอย่างที่พ่อสอน และไม่ลืมที่จะเพลิดเพลินกับชีวิต. ผมขอบอกคนที่สูญเสียพ่อแม่ว่า คุณจะไม่มีวันลืมความเศร้าโศกในวันที่ท่านจากไปได้หรอก แต่คุณไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มันครอบงำคุณ. จงแสดงความเศร้าโศกออกมาให้หนำใจ แต่อย่าลืมว่าคุณยังต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 คุณไม่ควรรีบตัดสินใจในบางเรื่อง เช่น การย้ายบ้านหรือการสานสัมพันธ์กับคนใหม่. ควรทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเฉพาะเมื่อคุณมีเวลามากพอที่จะปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่.
^ วรรค 10 แม้ว่าแอลกอฮอล์อาจช่วยลดความเจ็บปวดจากการสูญเสีย แต่ก็มีผลเพียงชั่วคราว. ในระยะยาว แอลกอฮอล์จะไม่ช่วยคุณต้านทานความโศกเศร้า และคุณจะกลายเป็นคนติดเหล้า.
^ วรรค 16 เนื่องจากแต่ละคนแสดงอาการโศกเศร้าไม่เหมือนกัน เพื่อน ๆ และญาติไม่ควรบอกคนที่กำลังโศกเศร้าให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นตามความคิดเห็นของตัวเอง.—กาลาเทีย 6:2, 5
^ วรรค 18 เพื่อจะได้ข้อมูลเรื่องสภาพของคนตายและคำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตาย โปรดดูบท 6 และ 7 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 8]
“ไม่ว่าดิฉันจะรู้สึกเศร้าเพียงใด ดิฉันก็จะหยิบคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาอ่าน แม้จะเป็นเพียงข้อเดียวก็ตาม”—ลอเรน
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
จัดการกับความรู้สึกผิด
บางทีคุณอาจรู้สึกว่า การที่คุณละเลยบางอย่างไปนั้นมีส่วนทำให้คนที่คุณรักเสียชีวิต. การตระหนักว่าความรู้สึกผิดเช่นนั้นเป็นปฏิกิริยาปกติของความโศกเศร้าจะช่วยได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือคิดเอาเอง. กรณีนี้ก็เช่นกัน อย่ารู้สึกว่าคุณต้องเก็บความรู้สึกเช่นนั้นไว้กับตัวเอง. การพูดคุยในเรื่องที่ว่า คุณรู้สึกผิดแค่ไหนนั้นอาจช่วยให้มีการผ่อนคลายที่จำเป็นได้มาก.
แต่จงตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะรักอีกคนหนึ่งมากแค่ไหน เราก็ไม่อาจควบคุมชีวิตของเขาหรือเธอได้ และเราไม่อาจป้องกันคนที่เรารักไว้จาก “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า.” (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) นอกจากนั้น ไม่มีข้อสงสัยว่า คุณไม่ได้มีเจตนาไม่ดี. ตัวอย่างเช่น ในการที่ไม่ได้นัดหมายแพทย์ให้เร็วขึ้น คุณตั้งใจจะให้คนที่คุณรักป่วยและเสียชีวิตไหม? แน่นอน คุณไม่ได้ตั้งใจเช่นนั้น! ถ้าเช่นนั้น คุณมีความผิดจริง ๆ ไหมที่คนนั้นตาย? ก็ไม่มี.
มารดาคนหนึ่งเรียนรู้ที่จะรับมือกับความรู้สึกผิดหลังจากบุตรสาวของเธอเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์. เธออธิบายว่า “ดิฉันรู้สึกผิดที่ให้เธอออกไป. แต่ดิฉันได้มาตระหนักว่า ไม่มีเหตุผลที่รู้สึกเช่นนั้น. ไม่มีอะไรผิดที่ให้เธอไปทำธุระกับพ่อ. มันเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง.”
คุณอาจบอกว่า ‘แต่ก็มีหลายสิ่งเหลือเกินที่ฉันน่าจะได้พูดหรือได้ทำ.’ จริงอยู่ แต่มีใครในพวกเราจะบอกได้ว่าเราเป็นพ่อ, เป็นแม่, หรือเป็นลูกที่ดีพร้อม? คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราให้ระลึกว่า “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง. ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งทางวาจาเลย ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์.” (ยาโกโบ 3:2; โรม 5:12) ฉะนั้น จงยอมรับความจริงที่ว่า คุณเป็นคนไม่สมบูรณ์. การจมอยู่กับความคิดที่ว่า “ถ้าเพียงแต่ฉันได้ทำอย่างโน้นอย่างนี้” จะไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ มีแต่จะทำให้อาการคลายเศร้าของคุณเป็นไปอย่างเชื่องช้า. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 36 ข้อความจากกรอบนี้มาจากจุลสารเมื่อคนที่คุณรักเสียชีวิต จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 6]
บางครั้ง พ่อแม่สูงอายุอาจต้องปลอบลูกที่เป็นผู้ใหญ่แล้วซึ่งกำลังโศกเศร้า
[ภาพหน้า 9]
การจดบันทึกประจำวัน, การดูรูปถ่าย, และการยอมรับความช่วยเหลือเป็นวิธีที่จะช่วยรับมือกับการสูญเสียคนที่เรารัก