ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำ​แนะ​นำ​สำหรับ​ครอบครัว | การ​เลี้ยง​ลูก

หาวิธีเข้าถึงใจลูกวัยรุ่น

หาวิธีเข้าถึงใจลูกวัยรุ่น

ปัญหา

ตอน​ที่​ลูก​เป็น​เด็ก เขา​คุย​กับ​คุณ​ทุก​เรื่อง. แต่​พอ​เป็น​วัยรุ่น เขา​กลับ​ไม่​บอก​อะไร​คุณ​เลย. เมื่อ​คุณ​พยายาม​ชวน​คุย เขา​ก็​ตอบ​แบบ​เสีย​ไม่​ได้​หรือ​พูด​จา​กวน​โมโห​จน​บ้าน​แทบ​กลาย​เป็น​สนาม​รบ.

คุณ​สามารถ เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ที่​จะ​เข้า​ถึง​ใจ​ลูก​วัยรุ่น​ได้. แต่​ก่อน​อื่น ให้​เรา​มา​ดู​สาเหตุ​สอง​ประการ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​นี้.

สาเหตุ​ของ​ปัญหา

ลูก​อยาก​มี​อิสระ. ก่อน​ที่​เด็ก​วัยรุ่น​จะ​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ เขา​ต้อง​ค่อย ๆ ฝึก​รับผิดชอบ​ตัว​เอง​เหมือน​กับ​การ​ขยับ​จาก​ที่​นั่ง​ผู้​โดยสาร​ไป​นั่ง​หลัง​พวงมาลัย​และ​เรียน​รู้​ที่​จะ​นำ​พา​ชีวิต​ของ​ตน​แล่น​ไป​บน​เส้น​ทาง​ที่​มี​อุปสรรค​ขวาก​หนาม. จริง​อยู่ วัยรุ่น​บาง​คน​ต้องการ​อิสระ​มาก​กว่า​ที่​เขา​ควร​ได้​รับ แต่​ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง​พ่อ​แม่​บาง​คน​ก็​ให้​อิสระ​ลูก​น้อย​เกิน​ไป. สถานการณ์​เช่น​นี้​อาจ​สร้าง​ความ​ตึงเครียด​ให้​กับ​ทั้ง​พ่อ​แม่​และ ลูก​วัยรุ่น. แบรด *วัย 16 ปี​บ่น​ว่า “พ่อ​แม่​ของ​ผม​พยายาม​ควบคุม​ชีวิต​ผม​ทุก​ฝี​ก้าว. ถ้า​ถึง​อายุ 18 พ่อ​แม่​ยัง​ไม่​ให้​อิสระ​ผม​มาก​กว่า​นี้ ผม​จะ​ไป​จาก​บ้าน​แน่ ๆ!”

ลูก​รู้​จัก​คิด​แบบ​มี​เหตุ​มี​ผล. เด็ก​เล็ก​มัก​จะ​คิด​ตาม​ที่​พวก​เขา​เห็น เช่น ขาว​ก็​คือ​ขาว ดำ​ก็​คือ​ดำ แต่​เด็ก​วัยรุ่น​จะ​มอง​ลึก​กว่า​นั้น​และ​สามารถ​แยกแยะ​ราย​ละเอียด​ที่​ซับซ้อน​ได้. ความ​สามารถ​นี้​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​การ​คิด​หา​เหตุ​ผล​ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​หนุ่ม​สาว​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง. ยก​ตัว​อย่าง ความ​ยุติธรรม​ใน​ความ​คิด​ของ​เด็ก​เป็น​แบบ​ง่าย ๆ ไม่​ซับซ้อน เช่น ‘แม่​หัก​คุกกี้​เป็น​สอง​ชิ้น​แล้ว​ให้​หนู​ครึ่ง​หนึ่ง ให้​น้อง​ครึ่ง​หนึ่ง.’ ใน​กรณี​นี้ ความ​ยุติธรรม​เป็น​เพียง​สูตร​คณิตศาสตร์. แต่​สำหรับ​เด็ก​วัยรุ่น ความ​ยุติธรรม​เป็น​เรื่อง​ซับซ้อน​กว่า​นั้น. ที่​จริง ความ​ยุติธรรม​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​จะ​ต้อง​เท่า​เทียม​กัน​และ​ความ​เท่า​เทียม​กัน​ก็​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​จะ​ยุติธรรม​เสมอ​ไป. เด็ก​วัยรุ่น​ที่​รู้​จัก​คิด​หา​เหตุ​ผล​จะ​ขบ​คิด​เรื่อง​ที่​ซับซ้อน​เช่น​นั้น แต่​ข้อ​เสีย​ก็​คือ​ลูก​วัยรุ่น​จะ​เริ่ม​มี​ความ​คิด​เห็น​ที่​ขัด​แย้ง​กับ​คุณ.

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้

หา​โอกาส​คุย​กัน​แบบ​สบาย ๆ. ฉวย​จังหวะ​ตอน​ที่​ทั้ง​คุณ​และ​ลูก​รู้สึก​ผ่อน​คลาย. ตัว​อย่าง​เช่น พ่อ​แม่​บาง​คน​รู้สึก​ว่า​ลูก​วัยรุ่น​จะ​เปิด​ใจ​พูด​คุย​มาก​กว่า​ระหว่าง​ที่​ช่วย​กัน​ทำ​งาน​บ้าน หรือ​นั่ง​รถ​ไป​ไหน​มา​ไหน​ด้วย​กัน เพราะ​ใน​เวลา​เช่น​นั้น​เขา​จะ​รู้สึก​เป็น​กัน​เอง​กับ​พ่อ​แม่​มาก​กว่า​ตอน​ที่​นั่ง​พูด​คุย​แบบ​เป็น​ทาง​การ.—คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: พระ​บัญญัติ 6:6, 7

อย่า​พูด​ยืด​ยาว. คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​แจก​แจง​ทุก​ราย​ละเอียด​จน​ทำ​ให้​การ​พูด​คุย​กัน​กลาย​เป็น​การ​ทะเลาะ​กัน. จง​พูด​เฉพาะ​เรื่อง​ที่​เป็น​ปัญหา . . . แล้ว​ก็​หยุด. ลูก​จะ “ได้​ยิน” เรื่อง​ที่​คุณ​พูด​จริง ๆ ก็​ตอน​ที่​เขา​อยู่​คน​เดียว​และ​มี​เวลา​คิด​ถึง​เรื่อง​ที่​คุณ​พูด​กับ​เขา. จง​ให้​เขา​มี​โอกาส​ได้​ใช้​ความ​คิด​บ้าง.—คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: สุภาษิต 1:1-4

รับ​ฟัง​และ​รู้​จัก​ผ่อนปรน. เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ปัญหา​ทั้ง​หมด คุณ​ควร​ตั้งใจ​ฟัง​ให้​ดี​ก่อน​โดย​ไม่​พูด​แทรก. เมื่อ​ตอบ คุณ​ก็​ควร​ตอบ​แบบ​มี​เหตุ​ผล. ถ้า​คุณ​เข้มงวด​กับ​กฎ​ที่​คุณ​ตั้ง​ไว้​มาก​เกิน​ไป ลูก​วัยรุ่น​ก็​อาจ​หา​ช่อง​ที่​จะ​แหก​กฎ. หนังสือ​พูด​คุย​กับ​ลูก​วัยรุ่น​เสมอ (ภาษา​อังกฤษ) เตือน​ว่า “ถ้า​ทำ​เช่น​นั้น เด็ก​อาจ​กลาย​เป็น​คน​ตี​สอง​หน้า. เมื่อ​อยู่​ต่อ​หน้า​พ่อ​แม่ เด็ก​จะ​พูด​สิ่ง​ที่​พ่อ​แม่​อยาก​ได้​ยิน แต่​พอ​ลับหลัง​พวก​เขา​ก็​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​ตัว​เอง​ต้องการ.”—คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: ฟิลิปปอย 4:5

ใจ​เย็น ๆ. เด็ก​สาว​ชื่อ​แครี​บอก​ว่า “เวลา​ที่​เรา​คิด​ไม่​ตรง​กัน ไม่​ว่า​ฉัน​จะ​พูด​อะไร แม่​ก็​อารมณ์​เสีย​ได้​ทุก​เรื่อง. มัน​ทำ​ให้​ฉัน​โมโห​มาก. คุย​กัน​อยู่​ดี ๆ ก็​กลาย​เป็น​ทะเลาะ​กัน​เสีย​นี่.” แทน​ที่​จะ​แสดง​อารมณ์​มาก​เกิน​ไป จง​พูด​สิ่ง​ที่​เป็น​เหมือน “กระจก” สะท้อน​ความ​รู้สึก​ของ​ลูก. ตัว​อย่าง​เช่น แทน​ที่​จะ​พูด​ว่า “ลูก​จะ​กลุ้ม​ใจ​ทำไม​กับ​เรื่อง​แค่​นี้!” คุณ​น่า​จะ​พูด​ว่า “แม่​รู้​นะ​ว่า​เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​ลูก​กลุ้ม​ใจ​มาก.”—คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: สุภาษิต 10:19

แนะ​นำ​แทน​ที่​จะ​ออก​คำ​สั่ง. ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​หา​เหตุ​ผล​ของ​ลูก​วัยรุ่น​เป็น​เหมือน​กล้ามเนื้อ​ที่​ต้อง​ค่อย ๆ สร้าง​ขึ้น. ดัง​นั้น เมื่อ​ลูก​เจอ​ปัญหา อย่า​แก้​ปัญหา​ให้​เขา. จง​ให้​เขา​มี​โอกาส “ฝึก” ใช้​ความ​คิด​และ​พูด​ออก​มา​ว่า​เขา​จะ​แก้​ปัญหา​อย่าง​ไร. หลัง​จาก​ปรึกษา​หารือ​กัน​แล้ว​ว่า​มี​ทาง​แก้​อะไร​บ้าง คุณ​อาจ​พูด​กับ​ลูก​ว่า “ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​วิธี​ที่​น่า​จะ​ใช้​ได้. ลูก​ลอง​ไป​คิด​ดู​สัก​สอง​สาม​วัน แล้ว​ค่อย​มา​คุย​กัน​ใหม่​ว่า​ลูก​ชอบ​วิธี​ไหน​และ​ทำไม​ถึง​เลือก​วิธี​นั้น.”—คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล: ฮีบรู 5:14

^ วรรค 7 ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.