ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากปก

คุณคิดอย่างไรกับเงิน?

คุณคิดอย่างไรกับเงิน?

ผู้คนพูดกันว่า “โลกขับเคลื่อนได้ด้วยเงิน” ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ผิด เพราะไม่ว่าจะซื้ออาหาร เสื้อผ้า จ่ายค่าเช่า หรือซื้อบ้าน เราก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น ผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินคนหนึ่งเขียนว่า “เงินมีบทบาทสำคัญในสังคมมากอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเราเลิกใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ผู้คนก็คงจะตื่นตระหนกและเกิดสงครามขึ้นภายในไม่ถึงเดือน”

แน่นอนว่าเงินมีข้อจำกัด อาเน่ การ์บอร์ก กวีชาวนอร์เวย์พูดถึงเงินว่า “คุณสามารถซื้ออาหารได้แต่ซื้อความอยากกินไม่ได้ ซื้อยาได้แต่ซื้อสุขภาพไม่ได้ ซื้อที่นอนนุ่ม ๆ ได้แต่ซื้อการนอนหลับไม่ได้ ซื้อความรู้ได้แต่ซื้อความฉลาดไม่ได้ ซื้อความอลังการได้แต่ซื้อความงามไม่ได้ ซื้อความหรูหราได้แต่ซื้อความอบอุ่นไม่ได้ ซื้อความสนุกได้แต่ซื้อความสุขไม่ได้ ซื้อเพื่อนกินได้แต่ซื้อเพื่อนตายไม่ได้ ซื้อคนรับใช้ได้แต่ซื้อความซื่อสัตย์ของเขาไม่ได้”

คนที่คิดเรื่องเงินอย่างสมดุลจะมองว่าเงินเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ แทนที่จะมองว่าเงินเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ถึงแม้ว่าเงินจะช่วยซื้อความสุขสบายได้ แต่คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า ‘การรักเงินเป็นรากของสิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด และเนื่องจากการขวนขวายหาเงิน บางคนจึงได้ทิ่มแทงตัวเองทั่วทั้งตัวด้วยสิ่งที่ก่อความทุกข์มากมาย’—1 ติโมเธียว 6:10

ขอสังเกตว่า สิ่งที่ก่อความเสียหายไม่ใช่เงิน แต่เป็นการรัก เงิน ที่จริง การคิดเรื่องเงินมากเกินไปอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนในครอบครัวแตกหักได้ ขอเรามาดูบางตัวอย่างด้วยกัน

แดเนียล: * “ผมคิดมาตลอดว่าโทมัสเพื่อนของผมเป็นคนดีและจริงใจ เราไม่เคยมีปัญหากันจนกระทั่งเขาซื้อรถผมไปใช้ ผมไม่รู้มาก่อนว่ารถผมมีปัญหา และโทมัสเองก็ตกลงที่จะซื้อรถตามสภาพนั้น แต่พอสามเดือนหลังจากนั้นรถก็เสีย โทมัสรู้สึกว่าผมโกงเขา เลยมาทวงเงินคืนด้วยความโกรธ ผมนี่อึ้งไปเลย! พอผมจะอธิบาย เขาก็ไม่ฟัง แถมยังสวนกลับด้วยคำพูดที่ไม่ดี และเขาก็เกลียดผมไปเลย พอมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง โทมัสที่ผมเคยรู้จักก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน”

เอซิน: “เนสริมเป็นน้องสาวคนเดียวของฉัน เราโตมาด้วยกัน และฉันไม่เคยคิดเลยว่าเรื่องเงินจะมาทำให้พี่น้องแตกคอกัน แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้น พอพ่อแม่เสีย พวกท่านทิ้งมรดกก้อนเล็ก ๆ ให้พวกเรา ในพินัยกรรมบอกว่าให้แบ่งเงินกันคนละครึ่ง แต่น้องสาวไม่ยอมเพราะอยากได้มากกว่านั้น ส่วนฉันเลือกที่จะทำตามพินัยกรรมของพ่อแม่ เธอเลยด่าว่าและข่มขู่ฉันต่าง ๆ นานา จนถึงทุกวันนี้ เธอก็ยังไม่ยอมดีกับฉัน”

เงินกับอคติ

การมีความคิดผิด ๆ เรื่องเงินอาจทำให้เรามีอคติกับคนอื่น ๆ เช่น คนรวยอาจคิดว่าคนจนเป็นคนขี้เกียจสันหลังยาวถึงได้จนอยู่อย่างนั้น ส่วนคนที่มีเงินน้อยอาจคิดว่าคนรวยเป็นพวกบ้าวัตถุและไม่รู้จักพอ ลีแอนวัยรุ่นคนหนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวร่ำรวยก็ถูกมองแบบนี้ด้วย เธอเล่าว่า

ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลจะเขียนมานานแล้วแต่คำแนะนำเรื่องเงินก็ยังใช้ได้ถึงทุกวันนี้

“ใคร ๆ ก็รู้ว่าฉันเป็นลูกคนรวย พวกเขาก็มักพูดกับฉันว่า ‘ถ้าเธออยากได้อะไร แค่ไปขอพ่อก็จบละ’ หรือ ‘ก็พวกเราไม่ได้รวยเวอร์ อย่างครอบครัวเธอ หนิจะได้มีรถหรู ๆ ขับ’ สุดท้าย ฉันเลยต้องขอให้เพื่อน ๆ เลิกพูดประชดประชันอย่างนั้น เพราะมันทำให้ฉันรู้สึกแย่มาก ฉันอยากให้คนมองว่าฉันเป็นคนมีน้ำใจ ไม่ใช่คนมีกะตังค์”

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร?

คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ตำหนิเงิน คนที่มีเงิน หรือคนร่ำรวย เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่เขามี แต่อยู่ที่มุมมอง เรื่องเงินหรือความอยากได้อยากมีของเขา ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลจะเขียนมานานแล้ว แต่คำแนะนำที่ช่วยให้คนเรามีความคิดที่ถูกต้องเรื่องเงินก็ยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ มาดูตัวอย่างต่อไปนี้ด้วยกัน

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า: “อย่าโหมงานจนอ่อนล้าเพื่อจะเป็นคนมั่งมี”—สุภาษิต 23:4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน

หนังสือโรคหลงตัวเองแพร่ระบาด (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า คนที่คิดแต่จะรวยมักมีโอกาส “ป่วยทางจิตมากกว่า พวกเขายังมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น เจ็บคอ ปวดหลัง ปวดหัว และมีแนวโน้มว่าจะดื่มเหล้ามากเกินไปและใช้ยาเสพติด ดูเหมือนว่าการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินให้ได้มาก ๆ มีแต่จะทำให้คนเราเป็นทุกข์”

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า: “จงให้วิถีชีวิตของพวกท่านปราศจากการรักเงิน และจงพอใจในสิ่งที่พวกท่านมีอยู่”—ฮีบรู 13:5

คนสมถะก็อาจกังวลเรื่องเงินเหมือนกัน แต่เขารู้ว่าเงินไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เขาจึงไม่กังวลกับเรื่องนี้จนเกินเหตุ ตัวอย่างเช่น คนที่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่จะไม่ตีโพยตีพายมากเกินไปเมื่อสูญเสียเงิน แต่เขาพยายามคิดแบบอัครสาวกเปาโลที่บอกว่า “ข้าพเจ้ารู้จักการอยู่อย่างอัตคัด ที่จริง ข้าพเจ้ารู้จักการมีอย่างบริบูรณ์ ในทุกสิ่งและในทุกสภาพการณ์ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เคล็ดลับทั้งของการอยู่อย่างอิ่มหนำและการอยู่อย่างอดอยาก ทั้งของการอยู่อย่างที่มีบริบูรณ์และการอยู่อย่างขัดสน”—ฟิลิปปอย 4:12

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า: “คนที่วางใจในความมั่งคั่งจะล้มละลาย”—สุภาษิต 11:28, ฉบับมาตรฐาน

นักวิจัยบอกว่า ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ชีวิตคู่ลงเอยด้วยการหย่าร้าง และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย สำหรับบางคน เงินสำคัญกว่าคำปฏิญาณที่เคยให้ไว้ตอนแต่งงาน หรือสำคัญกว่าชีวิตของตัวเองด้วยซ้ำ! คนที่คิดอย่างสมดุลจะไม่ฝากความหวังไว้ที่เงิน แต่พวกเขาจะนึกถึงคำสอนของพระเยซูที่ว่า “แม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี”—ลูกา 12:15

เงินสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ?

การตรวจสอบตัวเองจะทำให้รู้ว่าคุณจำเป็นต้องปรับความคิดเรื่องเงินให้สมดุลหรือไม่ ตัวอย่างเช่น คุณอาจถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้

  • ฉันมักจะหูผึ่งไหมเมื่อได้ยินว่ามีวิธีรวยทางลัด?

  • ฉันใจแคบจนไม่ยอมหยิบยื่นเงินช่วยเหลือคนอื่นไหม?

  • ฉันชอบคบเพื่อนที่พูดแต่เรื่องเงินและโอ้อวดสิ่งของที่พวกเขามีไหม?

  • ฉันโกหกหรือใช้วิธีสกปรกเพื่อจะได้เงินไหม?

  • เงินทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญไหม?

  • ในหัวฉันมีแต่เรื่องเงินไหม?

  • ฉันให้ความสำคัญกับเงินจนทำให้สุขภาพและชีวิตครอบครัวของฉันมีปัญหาไหม?

    รู้จักหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือคนอื่น

ถ้าคุณตอบใช่ในข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้คุณพยายามขจัดความคิดและหลีกเลี่ยงสิ่งล่อตาล่อใจที่ทำให้อยากได้วัตถุเงินทอง ไม่คบสนิทกับคนที่คิดแต่เรื่องเงินและอยากได้ไม่รู้จักพอ แต่ให้คบกับคนที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและมีศีลธรรมที่ดี

ขออย่ายอมให้ตัวเองกลายเป็นคนรักเงิน แต่ให้ครอบครัว เพื่อน สุขภาพกายและใจมาก่อนเรื่องเงินเสมอ การทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าคุณมีความคิดเรื่องเงินอย่างสมดุล

^ วรรค 7 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ