ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงแสดงความรักใคร่ในวงครอบครัว

จงแสดงความรักใคร่ในวงครอบครัว

จง​แสดง​ความ​รักใคร่​ใน​วง​ครอบครัว

“ถ้า​เธอ​ทำ​ได้​ก็​เผา​เสีย​ซิ! เผา​ไป​เลย!” โทรุ​กล้า​ท้า​โยโกะ​ภรรยา​ของ​เขา. * “ฉัน​ทำ​แน่” เธอ​โต้​กลับ​และ​ทันใด​ก็​จุด​ไม้​ขีด​ไฟ​เผา​รูป​ที่​ทั้ง​สอง​ถ่าย​คู่​กัน. แล้ว​เธอ​ตวาด​เสียง​ดัง​ว่า “ฉัน​จะ​เผา​บ้าน​ให้​หมด!” โท​รุ​โต้​กลับ​โดย​รี่​เข้า​ไป​ตบ​หน้า​ภรรยา ยุติ​การ​โต้​เถียง​ด้วย​การ​ใช้​ความ​รุนแรง.

สาม​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น โท​รุ​กับ​โยโกะ​เริ่ม​ใช้​ชีวิต​ร่วม​กัน​เยี่ยง​คู่​สมรส​ที่​เปี่ยม​สุข. แล้ว​เกิด​อะไร​ที่​ผิด​พลาด​หรือ? แม้​โท​รุ​ดู​ท่า​ทาง​เป็น​คน​ดี แต่​ภรรยา​ของ​เขา​รู้สึก​ว่า​เขา​ไม่​ได้​แสดง​ความ​รักใคร่​ต่อ​เธอ และ​ไม่​ค่อย​จะ​ใส่​ใจความ​รู้สึก​ของ​เธอ. ดู​เหมือน​เขา​ไม่​สามารถ​ตอบ​สนอง​ความ​รักใคร่​ของ​เธอ. เนื่อง​จาก​ไม่​อาจ​ทน​สภาพ​เช่น​นี้​ได้ โยโกะ​เริ่ม​รู้สึก​ขุ่นเคือง​และ​โกรธ​มาก​ขึ้น​ทุก​ที. เธอ​เกิด​อาการ​หลาย​อย่าง เช่น นอน​ไม่​หลับ, วิตก​กังวล, เบื่อ​อาหาร, หงุดหงิด, และ​ซึมเศร้า และ​ถึง​ขนาด​ตื่น​ตกใจ​กลัว​จน​ทำ​อะไร​ไม่​ถูก. กระนั้น โท​รุ​ก็​ยัง​ดู​เหมือน​ไม่​อนาทร​ต่อ​ความ​ตึงเครียด​ที่​แผ่​ซ่าน​อยู่​ใน​ครอบครัว​ของ​เขา. ดู​เหมือน​ว่า​มัน​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ธรรมดา​สำหรับ​เขา.

วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้”

ปัญหา​ดัง​กล่าว​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​สมัย​นี้. อัครสาวก​เปาโล​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​สมัย​ของ​เรา​จะ​ปรากฏ​ลักษณะ​พิเศษ​โดย​ผู้​คน “ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) คำ​เดิม​ภาษา​กรีก​ที่​นำ​มา​แปล​ตรง​นี้​ว่า “ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ” เกี่ยว​พัน​ใกล้​ชิด​กับ​ถ้อย​คำ​พรรณนา​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ​ที่​พบ​เห็น​ได้​ท่ามกลาง​สมาชิก​ครอบครัว. แน่นอน สมัย​ของ​เรา​เห็น​การ​ขาด​ความ​รักใคร่​ดัง​กล่าว. ถึง​หาก​จะ​มี​ความ​รักใคร่​ต่อ​กัน ทว่า​สมาชิก​ครอบครัว​อาจ​จะ​ไม่​ได้​แสดง ความ​รักใคร่​ให้​เห็น.

ทุก​วัน​นี้​ผู้​เป็น​พ่อ​แม่​จำนวน​ไม่​น้อย​ไม่​รู้​ว่า​จะ​แสดง​ความ​รักใคร่​เอ็นดู​ต่อ​ลูก​ของ​ตน​อย่าง​ไร. บาง​คน​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ครอบครัว​ขาด​ความ​รักใคร่ และ​อาจ​ไม่​ตระหนัก​ว่า​ชีวิต​จะ​เป็น​สุข​เบิกบาน​และ​น่า​เพลิดเพลิน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​ได้​ถ้า​เพียง​แต่​สัมผัส​และ​แสดง​ความ​รู้สึก​รักใคร่​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. ดู​เหมือน​กรณี​ที่​ว่า​นี้​เกิด​ขึ้น​กับ​โท​รุ. ช่วง​ชีวิต​วัย​เด็ก​ของ​เขา พ่อ​เอา​แต่​สาละวน​อยู่​กับ​งาน​ตลอด​เวลา และ​กลับ​บ้าน​ตอน​ดึก. เขา​แทบ​ไม่​ได้​พูด​กับ​โท​รุ​เลย และ​เมื่อ​เขา​พูด ก็​มี​แต่​คำ​หยาบคาย. แม่​ของ​โท​รุ​ทำ​งาน​อาชีพ​เต็ม​เวลา​เช่น​กัน และ​ไม่​ได้​ใช้​เวลา​มาก​อยู่​กับ​ลูก. โทรทัศน์​กลาย​เป็น​พี่​เลี้ยง​ของ​ลูก. ไม่​มี​แม้​แต่​การ​พูด​ชมเชย​และ​ขาด​การ​สื่อ​ความ​ใน​ครอบครัว.

วัฒนธรรม​หรือ​ธรรมเนียม​ปฏิบัติ​อาจ​เป็น​ปัจจัย​ได้​เหมือน​กัน. ใน​ภูมิภาค​บาง​ส่วน​ของ​กลุ่ม​ประเทศ​ลาติน​อเมริกา ที่​สามี​จะ​แสดง​ความ​รักใคร่​ต่อ​ภรรยา​จะ​ต้อง​ฝืน​ธรรมเนียม​ปฏิบัติ​ทั่ว ๆ ไป. หลาย​ประเทศ​ทาง​ตะวัน​ออก​และ​ใน​แอฟริกา​ถือ​ว่า​การ​แสดง​ความ​รักใคร่​ด้วย​คำ​พูด​หรือ​โดย​การ​กระทำ​นั้น​เป็น​การ​ขัด​ต่อ​ธรรมเนียม. สามี​อาจ​รู้สึก​กระดาก​ปาก​ที่​จะ​พูด​กับ​ภรรยา​ว่า “ผม​รัก​คุณ” หรือ “พ่อ​รัก​ลูก​นะ​จ๊ะ.” กระนั้น​ก็​ดี เรา​สามารถ​ได้​บทเรียนจาก​สัมพันธภาพ​อัน​เยี่ยมยอด​ด้าน​ครอบครัว ซึ่ง​ใช้​ใน​เชิง​ปฏิบัติ​ได้​ตลอด​ทุก​กาล​สมัย.

ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ด้าน​ความ​สัมพันธ์​ใน​ครอบครัว

แบบ​อย่าง​อัน​ดี​ยิ่ง​สำหรับ​ครอบครัว​จะ​พบ​ได้​ใน​ความ​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​กับ​พระ​บุตร​ผู้​ได้​รับ​กำเนิด​องค์​เดียว​ของ​พระองค์. พระองค์​ทั้ง​สอง​แสดง​ความ​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​อย่าง​ไม่​มี​ที่​ติ. ตลอด​เวลา​ยาว​นาน​สุด​คณานับ กาย​วิญญาณ​องค์​นี้​ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​พระ​เยซู​คริสต์​มี​สัมพันธภาพ​ที่​น่า​ชื่นชม​ยินดี​กับ​พระ​บิดา. พระองค์​ทรง​พรรณนา​ความ​สัมพันธ์​อย่าง​นั้น​ว่า “เรา​ได้​มา​เป็น​ผู้​ที่​พระองค์​ทรง​โปรดปราน​เป็น​พิเศษ​วัน​แล้ว​วัน​เล่า เรา​ชื่นชม​ยินดี​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระองค์​ตลอด​เวลา.” (สุภาษิต 8:30, ล.ม.) พระ​บุตร​มั่น​พระทัย​มาก​ใน​เรื่อง​ความ​รัก​ของ​พระ​บิดา​จน​พระองค์​สามารถ​บอก​แก่​คน​ทั้ง​ปวง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​โปรดปราน​พระองค์​เป็น​พิเศษ​วัน​แล้ว​วัน​เล่า. พระองค์​ทรง​มี​ความ​สุข​ตลอด​เวลา​ที่​อยู่​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระ​บิดา​ของ​พระองค์.

แม้​แต่​ขณะ​ที่​เป็น​มนุษย์​อยู่​ใน​โลก​นี้ พระ​เยซู พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า ได้​รับ​คำ​รับรอง​ที่​มั่น​ใจ​ได้​ใน​ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ของ​พระ​บิดา. หลัง​จาก​พระ​เยซู​รับ​บัพติสมา​แล้ว พระองค์​ได้​ยิน​พระ​สุรเสียง​จาก​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ตรัส​ดัง​นี้: “นี่​คือ​บุตร​ของ​เรา ผู้​เป็น​ที่​รัก ผู้​ซึ่ง​เรา​โปรดปราน.” (มัดธาย 3:17, ล.ม.) ช่าง​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​ที่​ให้​กำลังใจ​อย่าง​แท้​จริง ขณะ​ที่​พระ​เยซู​เริ่ม​งาน​มอบหมาย​บน​แผ่นดิน​โลก! ทั้ง​นี้​พระองค์​คง​ต้อง​ปลาบปลื้ม​พระทัย​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​ได้​ยิน​พระ​บิดา​ตรัส​แสดง​ความ​โปรดปราน ขณะ​ที่​ทรง​ฟื้น​ความ​ทรง​จำ​ทุก​อย่าง​เกี่ยว​กับ​สภาพ​ชีวิต​ช่วง​ที่​พระองค์​อยู่​ใน​สวรรค์.

ด้วย​เหตุ​นี้ พระ​ยะโฮวา​ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​อัน​ดี​ยิ่ง​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​เต็ม​ขนาด​ต่อ​ครอบครัว​สากล​ของ​พระองค์. ถ้า​เรา​รับรอง​พระ​เยซู​คริสต์ เรา​ย่อม​ได้​รับ​ความ​รักใคร่​จาก​พระ​ยะโฮวา​เช่น​เดียว​กัน. (โยฮัน 16:27, ล.ม.) ถึง​แม้​เรา​ไม่​ได้​ยิน​เสียง​จาก​สวรรค์ เรา​สามารถ​มอง​เห็น​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ปรากฏ​ใน​ธรรมชาติ, เห็น​ได้​จาก​การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​ด้วย​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู, และ​แนว​ทาง​อื่น ๆ อีก. (1 โยฮัน 4:9, 10, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา​ถึง​กับ​สดับ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา และ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​อย่าง​ที่​เป็น​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด​สำหรับ​พวก​เรา. (บทเพลง​สรรเสริญ 145:18; ยะซายา 48:17) ขณะ​ที่​เรา​ปลูกฝัง​สัมพันธภาพ​ที่​แน่นแฟ้น​กับ​พระ​ยะโฮวา พวก​เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​ที่​พระองค์​ทรง​ใฝ่​พระทัย​ด้วย​ความ​รักใคร่.

พระ​เยซู​ทรง​เรียน​จาก​พระ​บิดา​เกี่ยว​กับ​การ​แสดง​ความ​ร่วม​รู้สึก, การ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น, ความ​กรุณา, และ​ความ​ห่วงใย​สุด​ซึ้ง​ต่อ​ผู้​อื่น. พระองค์​ได้​อธิบาย​ดัง​นี้: “สิ่ง​ใด ๆ ที่ [พระ​บิดา] ทรง​กระทำ พระ​บุตร​ก็​ทรง​กระทำ​ใน​ลักษณะ​เดียว​กัน. เพราะ​พระ​บิดา​ทรง​มี​ความ​รักใคร่​พระ​บุตร และ​ทรง​แสดง​ให้​พระ​บุตร​เห็น​ทุก​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​กระทำ.” (โยฮัน 5:19, 20, ล.ม.) แล้ว​เรา​ก็​สามารถ​เรียน​รู้​ทักษะ​การ​แสดง​ความ​รักใคร่​ได้​ด้วย​การ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​วาง​ไว้​เมื่อ​พระองค์​ยัง​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก.—ฟิลิปปอย 1:8.

ความ​รักใคร่​ใน​ครอบครัว—แสดง​อย่าง​ไร?

เพราะ “พระเจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก” และ​พวก​เรา​ถูก​สร้าง “ตาม​แบบ​ฉายา​ของ​พระองค์” เรา​จึง​มี​ศักยภาพ​ที่​จะ​รัก​และ​แสดง​ความ​รัก​ได้. (1 โยฮัน 4:8; เยเนซิศ 1:26, 27) กระนั้น ความ​สามารถ​เช่น​นั้น​ไม่​เกิด​ผล​โดย​อัตโนมัติ. เพื่อ​จะ​แสดง​ความ​รัก​ให้​ปรากฏ เรา​ต้อง​รู้สึก​รัก​คู่​สมรส​และ​ลูก​ของ​เรา​เสีย​ก่อน. จง​เป็น​คน​ช่าง​สังเกต​และ​จด​จำ​คุณลักษณะ​ที่​น่า​รัก​ของ​พวก​เขา และ​เพ่งเล็ง​ใน​ส่วน​ดี​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ที​แรก​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​ไม่​สู้​สำคัญ​นัก. คุณ​อาจ​พูด​ว่า ‘สามี [ภรรยา​หรือ​ลูก] ของ​ฉัน​ไม่​เห็น​จะ​น่า​รัก​ตรง​ไหน.’ คน​เหล่า​นั้น​ที่​แต่งงาน​แบบ​คลุม​ถุง​ชน​อาจ​ไม่​ค่อย​จะ​รัก​คู่​ของ​ตน. บาง​คู่​อาจ​ไม่​ต้องการ​มี​บุตร​ด้วย​ซ้ำ. กระนั้น ขอ​พิจารณา​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​ภรรยา​โดย​นัย​ของ​พระองค์ ซึ่ง​ได้​แก่​ชน​ชาติ​อิสราเอล ใน​ศตวรรษ​ที่​สิบ​ก่อน​สากล​ศักราช. แม้​ผู้​พยากรณ์​ของ​พระองค์ คือ​เอลียา ลง​ความ​เห็น​ว่า​ไม่​มี​ใคร​อีก​แล้ว​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ท่ามกลาง​ชาติ​อิสราเอล​สิบ​ตระกูล​นั้น แต่​พระ​ยะโฮวา​ได้​พิเคราะห์​อย่าง​รอบคอบ​ถี่ถ้วน​และ​พบ​ว่า​มี​ไพร่​พล​มาก​พอ​สม​ควร คือ​รวม​ทั้ง​สิ้น 7,000 คน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​มี​คุณสมบัติ​เป็น​ที่​ชอบ​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระองค์. คุณ​จะ​เอา​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​ได้​ไหม โดย​มอง​หา​คุณ​ความ​ดี​ใน​ตัว​บุคคล​ภาย​ใน​วง​ครอบครัว​ของ​คุณ?—1 กษัตริย์ 19:14-18.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ที่​จะ​ให้​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​รู้สึก​ถึง​ความ​รักใคร่​ของ​คุณ คุณ​ต้อง​บากบั่น​พยายาม​แสดง​ความ​รักใคร่​ออก​มา. คราว​ใด​ก็​ตาม​ที่​คุณ​สังเกต​เห็น​การ​กระทำ​บาง​อย่าง​ซึ่ง​ควร​แก่​การ​ยกย่อง​ชมเชย ก็​จง​พูด​ชมเชย. เมื่อ​พรรณนา​ความ​สามารถ​ของ​ภรรยา พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​พูด​ถึง​ลักษณะ​ที่​น่า​สนใจ​ของ​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​นาง​ดัง​นี้: “บุตร​ของ​นาง​ก็​ลุก​ขึ้น​ชมเชย​เขา; สามี​ของ​นาง​ก็​สรรเสริญ​เขา.” (สุภาษิต 31:28) สังเกต​ว่า​สมาชิก​ครอบครัว​ได้​แสดง​ออก​ซึ่ง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​กัน​อย่าง​ไม่​อั้น. โดย​การ​พูด​ชมเชย​ภรรยา ผู้​เป็น​บิดา​ได้​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​แก่​บุตร​ชาย​ของ​ตน สนับสนุน​เขา​ให้​เป็น​คน​ใจ​กว้าง​ใน​การ​ชมเชย​คู่​ครอง​เมื่อ​เขา​ได้​สมรส.

อนึ่ง บิดา​มารดา​ควร​พูด​ชม​บุตร​ของ​ตน. การ​นี้​จะ​ช่วย​ปลูกฝัง​ความ​นับถือ​ตัว​เอง​ใน​หัวใจ​บุตร. แท้​จริง​แล้ว คน​เรา​จะ “รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง” ได้​อย่าง​ไร​ถ้า​เขา​ไม่​นับถือ​ตน​เอง? (มัดธาย 22:39) ใน​ทาง​กลับ​กัน ถ้า​บิดา​มารดา​เอา​แต่​ตำหนิ​บุตร​อยู่​ร่ำ​ไป ไม่​พูด​ชมเชย​แม้​แต่​น้อย บุตร​ก็​อาจ​หมด​ความ​นับถือ​ตัว​เอง​เสีย​ง่าย ๆ และ​อาจ​เห็น​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​แสดง​ความ​รักใคร่​ต่อ​ผู้​อื่น.—เอเฟโซ 4:31, 32.

คุณ​สามารถ​พบ​การ​ช่วยเหลือ

สมมุติ​ว่า​คุณ​ไม่​ได้​เติบ​ใหญ่​ขึ้น​มา​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​รัก​ล่ะ? คุณ​ก็​ยัง​สามารถ​เรียน​รู้​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​ได้. ขั้น​แรก​คือ​รับ​รู้​ปัญหา​และ​ยอม​รับ​ความ​จำเป็น​ที่​ต้อง​ปรับ​ปรุง​แก้ไข. คัมภีร์​ไบเบิล​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มี​ส่วน​ช่วย​ใน​เรื่อง​นี้​ได้​มาก​ที​เดียว. คัมภีร์​ไบเบิล​เปรียบ​ได้​กับ​กระจกเงา. เมื่อ​เรา​สำรวจ​ตัว​เอง​จาก​การ​ส่อง​กระจก​โดย​นัย ซึ่ง​ได้​แก่​คำ​สั่ง​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล เรา​จะ​เห็น​ข้อ​บกพร่อง หรือ​จุด​ตำหนิ​ที่​อยู่​ใน​ความ​คิด​ของ​เรา​ได้. (ยาโกโบ 1:23) เพื่อ​ให้​ประสาน​กับ​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล เรา​สามารถ​ปรับ​เปลี่ยน​แนว​โน้ม​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​ไม่​เหมาะ​สม. (เอเฟโซ 4:20-24; ฟิลิปปอย 4:8, 9) เรา​จำเป็น​ต้อง​ทำ​อย่าง​นั้น​อยู่​เสมอ ไม่ “เลิก​รา​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​ดี​งาม.”—ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.

บาง​คน​อาจ​พบ​ว่า​ยาก​ที่​จะ​แสดง​ออก​ซึ่ง​ความ​รักใคร่​อัน​เป็น​ผล​สืบ​เนื่อง​จาก​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​หรือ​วัฒนธรรม​ของ​เขา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ศึกษา​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​บ่ง​ชี้​ว่า​อุปสรรค​ต่าง ๆ ดัง​กล่าว​สามารถ​เอา​ชนะ​ได้. ดร. แดเนียล โกลแมน ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​สุขภาพ​จิต​ชี้​แจง​ว่า ‘แม้​แต่​นิสัย​ที่​ได้​เรียน​รู้​เมื่อ​เยาว์​วัย​ได้​ลง​ราก​หยั่ง​ลึก​ใน​หัวใจ​ไป​แล้ว แต่​สามารถ​ปรับ​เปลี่ยน​ได้.’ กว่า 1900 ปี​มา​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ชี้​ว่า ด้วย​การ​ช่วยเหลือ​ของ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า แม้​ความ​โน้ม​เอียง​แห่ง​หัวใจ​ที่​ฝัง​ลึก​เหนียวแน่น​ก็​ยัง​ดัด​แปลง​แก้ไข​ได้. พระ​คัมภีร์​แนะ​นำ​เรา​ว่า “จง​ถอด​ทิ้ง​บุคลิกภาพ​เก่า​กับ​กิจ​ปฏิบัติ​ต่าง ๆ ของ​มัน​เสีย และ​สวม​บุคลิกภาพ​ใหม่.”—โกโลซาย 3:9, 10, ล.ม.

เมื่อ​รู้​ปัญหา​แล้ว ครอบครัว​ก็​สามารถ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​การ​คำนึง​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน. ยก​ตัว​อย่าง คุณ​อาจ​ตรวจ​สอบ​ดู​ว่า คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​คำ “ความ​รักใคร่.” และ​อาจ​พบ​ข้อ​คัมภีร์​ทำนอง​นี้​ที่​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​เคย​ได้​ยิน​ถึง​ความ​เพียร​อด​ทน​ของ​โยบ​และ​ได้​เห็น​ผล​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​แล้ว​ว่า พระ​ยะโฮวา​ทรง​เปี่ยม​ไป​ด้วย​ความ​รักใคร่​อัน​อ่อน​ละมุน​และ​เมตตา.” (ยาโกโบ 5:11, ล.ม.) แล้ว​พิจารณา​เรื่อง​ราว​ของ​โยบ เพ่งเล็ง​วิธี​การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​แสดง​ความ​รักใคร่​อัน​อ่อน​ละมุน​และ​ความ​เมตตา​ต่อ​โยบ. คุณ​คง​อยาก​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวาอย่าง​แน่นอน​เพื่อ​จะ​เป็น​คน​มี​ความ​รักใคร่​อัน​อ่อน​ละมุน​และ​แสดง​ความ​เมตตา​ต่อ​ครอบครัว.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​เรา​ไม่​สมบูรณ์ “เรา​ทุก​คน​ต่าง​ก็​พลาด​พลั้ง​กัน​หลาย​ครั้ง” ทาง​วาจา. (ยาโกโบ 3:2, ล.ม.) ระหว่าง​สมาชิก​ครอบครัว เรา​อาจ​ไม่​ได้​ใช้​ลิ้น​ใน​ทาง​ที่​เสริม​สร้าง​กัน​และ​กัน. ตอน​นี้​แหละ การ​อธิษฐาน​และ​การ​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​มี​บทบาท​สำคัญ. อย่า​ยอม​แพ้. “จง​อธิษฐาน​อย่าง​ไม่​ละลด.” (1 เธซะโลนิเก 5:17, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ช่วย​ผู้​ที่​อยาก​ได้​รับ​ความ​รักใคร่​ใน​ครอบครัว รวม​ทั้ง​คน​ที่​ต้องการ​แสดง​ความ​รักใคร่ แต่​ทว่า​ไม่​กล้า​แสดง​ออก.

นอก​จาก​นั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​กรุณา​จัด​เตรียม​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ภาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. ยาโกโบ​เขียน​ดัง​นี้: “มี​ผู้​ใด​ใน​พวก​ท่าน​ป่วย [ฝ่าย​วิญญาณ] หรือ? จง​ให้​เขา​เชิญ​บรรดา​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ของ​ประชาคม​มา​หา​ตน และ​ให้​คน​เหล่า​นั้น​อธิษฐาน​เพื่อ​เขา เอา​น้ำมัน​ทา​เขา​ใน​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (ยาโกโบ 5:14, ล.ม.) ใช่​แล้ว พวก​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​ครอบครัว​ทั้ง​หลาย​ได้​มาก ซึ่ง​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​กำลัง​มี​ปัญหา​ใน​ด้าน​การ​แสดง​ความ​รักใคร่​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. แม้​ไม่​ใช่​อายุรแพทย์​หรือ​นัก​จิตวิทยา พวก​ผู้​ปกครอง​สามารถ​ช่วย​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ได้​ด้วย​ความ​อด​ทน ไม่​ใช่​ด้วย​การ​บอก​เขา​ทำ​อย่าง​นั้น​ทำ​อย่าง​นี้ แต่​เตือน​เขา​ให้​นึก​ถึง​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ร่วม​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​กับ​เขา​และ​อธิษฐาน​เพื่อ​เขา.—บทเพลง​สรรเสริญ 119:105; ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.

ใน​กรณี​ของ​โท​รุ​กับ​โยโกะ คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​รับ​ฟัง​ปัญหา​ของ​เขา​และ​ให้​การ​ชู​ใจ​เสมอ. (1 เปโตร 5:2, 3) ใน​บาง​โอกาส ผู้​ปกครอง​พร้อม​ด้วย​ภรรยา​ได้​แวะ​เยี่ยม​เพื่อ​โยโกะ​จะ​รับ​ประโยชน์​จาก​สตรี​คริสเตียน​ผู้​มี​ประสบการณ์ ซึ่ง​อาจ​ได้​เตือน​โยโกะ “ให้​ได้​สติ​ให้​รัก​สามี​ของ​ตน.” (ติโต 2:3, 4, ล.ม.) โดย​การ​แสดง​ถึง​ความ​เข้าใจ​และ​ความ​รู้สึก​ร่วม​ต่อ​เพื่อน​คริสเตียน​ผู้​ทน​ทุกข์​และ​ปวด​ร้าว​ใจ พวก​ผู้​ปกครอง​จึง​กลาย​เป็น “เหมือน​ที่​หลบ​ซ่อน​ให้​พ้น​ลม​และ​ที่​กำบัง​จาก​พายุ​ฝน.”—ยะซายา 32:1, 2, ล.ม.

ด้วย​การ​ช่วยเหลือ​ของ​พวก​ผู้​ปกครอง​ที่​มี​ใจ​กรุณา โท​รุ​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​ตัว​เอง​มี​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​การ​แสดง​อารมณ์​ความ​รู้สึก และ​ใน “สมัย​สุด​ท้าย” ซาตาน​โจมตี​วง​ครอบครัว. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) โท​รุ​ได้​ตัดสิน​ใจ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ของ​ตัว​เอง. เขา​เริ่ม​จะ​มอง​เห็น​ว่า​ที่​เขา​ไม่​ได้​แสดง​ความ​รัก​ก็​เพราะ​ตัว​เอง​ขณะ​เติบโต​ขึ้น​มา​นั้น​ไม่​เคย​มี​ใคร​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เขา. โดย​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​อธิษฐาน​อย่าง​จริงจัง โท​รุ​จึง​ค่อย ๆ เริ่ม​แสดง​ความ​รู้สึก​ตอบ​สนอง​ความ​ต้องการ​ทาง​อารมณ์​ของ​โยโกะ​มาก​ขึ้น.

แม้​ว่า​โยโกะ​เคย​โกรธ​เคือง​โท​รุ แต่​ครั้น​เธอ​เข้าใจ​ภูมิหลัง​ทาง​ครอบครัว​ของ​สามี อีก​ทั้ง​ได้​เห็น​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​ตัว​เอง เธอ​จึง​พยายาม​จริงจัง​ที่​จะ​มอง​หา​ส่วน​ดี​ใน​ตัว​เขา. (มัดธาย 7:1-3; โรม 5:12; โกโลซาย 3:12-14, ล.ม.) ด้วย​ความ​ตั้งใจ​จริง เธอ​ได้​วิงวอน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​กำลัง​เพื่อ​จะ​รัก​สามี​เสมอ​ไป. (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) ใน​ที่​สุด โท​รุ​ก็​เริ่ม​แสดง​ความ​รักใคร่ ซึ่ง​ยัง​ความ​ปีติ​ยินดี​แก่​ภรรยา​ของ​เขา.

ใช่​แล้ว หาก​คุณ​ประสบ​ว่า​ยาก​ที่​จะ​รัก​และ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​ใน​ครอบครัว แต่​คุณ​สามารถ​เอา​ชนะ​อุปสรรค​นี้​ได้​แน่นอน. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เป็น​ประโยชน์​แก่​เรา. (บทเพลง​สรรเสริญ 19:7) โดย​การ​ตระหนัก​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​เรื่อง​นี้, โดย​พยายาม​มอง​หา​ส่วน​ดี​ของ​สมาชิก​ใน​ครอบครัว, โดย​การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​ปฏิบัติ​ตาม, โดย​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​อธิษฐาน​อย่าง​จริงจัง, และ​แสวง​การ​ช่วยเหลือ​จาก​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ที่​อาวุโส คุณ​สามารถ​เอา​ชนะ​สิ่ง​ซึ่ง​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​อุปสรรค​ใหญ่​ระหว่าง​คุณ​กับ​ครอบครัว. (1 เปโตร 5:7) คุณ​จะ​ชื่นชม​ยินดี​ได้​เช่น​เดียว​กัน​กับ​สามี​คน​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ. เขา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​แสดง​ความ​รักใคร่​ต่อ​ภรรยา. ใน​ที่​สุด​เมื่อ​เขา​รวบ​รวม​ความ​กล้า​บอก​ภรรยา​ว่า “ผม​รัก​คุณ” อาการ​ตอบรับ​ของ​เธอ​ทำ​ให้​เขา​ตะลึง. เธอ​พูด​ทั้ง​น้ำตา​ด้วย​ความ​ปลื้ม​ปีติ​ว่า “ฉัน​รัก​คุณ​เช่น​กัน แต่​นี่​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​รอบ 25 ปี​ที่​คุณ​พูด​อย่าง​นี้.” อย่า​รอ​ให้​นาน​ขนาด​นั้น​แล้ว​ถึง​จะ​แสดง​ความ​รักใคร่​ต่อ​คู่​ชีวิต​และ​ลูก ๆ ของ​คุณ!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 บาง​ชื่อ​มี​การ​เปลี่ยน.

[ภาพ​หน้า 28]

พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​เตรียม​ความ​ช่วยเหลือ​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระองค์