“จงรุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ”
“จงรุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ”
“อย่าเกียจคร้านในการงานของพวกท่าน. จงรุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ. จงรับใช้พระยะโฮวาอย่างทาสที่ขยันขันแข็ง.”—โรม 12:11
1. เหตุใดชาวอิสราเอลจึงถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาและของถวายอื่น ๆ?
พระยะโฮวาทรงเห็นค่าการเสียสละด้วยความเต็มใจที่ผู้รับใช้ของพระองค์ทำเพื่อแสดงความรักต่อพระองค์และการที่พวกเขายินดีทำตามพระประสงค์ของพระองค์. ในสมัยโบราณ พระองค์ทรงยอมรับสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชาและของถวายอื่น ๆ. ชาวอิสราเอลทำอย่างนั้นตามพระบัญญัติของโมเซเพื่อขออภัยโทษบาปและเพื่อแสดงความขอบพระคุณ. ในประชาคมคริสเตียน พระยะโฮวาไม่ได้เรียกร้องให้เราถวายเครื่องบูชาอย่างเป็นพิธีการด้วยวัตถุสิ่งของเช่นนั้น. แต่ในบทที่ 12 ของจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม อัครสาวกเปาโลแสดงให้เห็นว่าพระองค์ยังคงคาดหมายให้เราถวายเครื่องบูชา. ให้เรามาพิ-จารณาด้วยกันว่าจะถวายโดยวิธีใด.
เครื่องบูชาที่มีชีวิต
2. ในฐานะคริสเตียน เราดำเนินชีวิตแบบใด และการดำเนินชีวิตแบบนี้เกี่ยวข้องกับอะไร?
2 อ่านโรม 12:1, 2. ในส่วนแรก ๆ ของจดหมายฉบับนี้ เปาโลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิม ไม่ว่าเป็นชาวยิวหรือชาวต่างชาติ ได้รับการประกาศว่าชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าโดยอาศัยความเชื่อ ไม่ใช่การกระทำ. (โรม 1:16; 3:20-24) ในบทที่ 12 เปาโลอธิบายว่าคริสเตียนควรแสดงความขอบคุณด้วยการดำเนินชีวิตแบบเสียสละตัวเอง. เพื่อจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องเปลี่ยนความคิดจิตใจของเราเสียใหม่. เนื่องด้วยความไม่สมบูรณ์ที่รับตกทอดมา เราตกอยู่ใต้ “กฎแห่งบาปและความตาย.” (โรม 8:2) ด้วยเหตุนั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงด้วยการ “เปลี่ยนพลังกระตุ้นจิตใจเสียใหม่” โดยเปลี่ยนแนวโน้มที่ไม่ดีในตัวเราอย่างถอนรากถอนโคน. (เอเฟ. 4:23) การเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าและพระวิญญาณของพระองค์เท่านั้น. การเปลี่ยนเช่นนั้นยังต้องอาศัยความพยายามอย่างจริงจังของเราเองด้วย โดยใช้ “ความสามารถในการใช้เหตุผล” ของเรา. นั่นย่อมหมายความว่าเราต้องพยายามเต็มที่เพื่อจะไม่ “เลียนแบบคนในยุคนี้” ที่ตกต่ำด้านศีลธรรม, ชอบความบันเทิงที่เสื่อมทราม, และมีความคิดที่วิปริต.—เอเฟ. 2:1-3
3. เหตุใดเราจึงร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน?
3 เปาโลยังเชิญเราด้วยให้ใช้ “ความสามารถในการใช้เหตุผล” เพื่อทำให้รู้แน่ว่าอะไรคือ “พระประสงค์อันดีของพระเจ้าซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยและสมบูรณ์พร้อม.” เหตุใดเราจึงอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน, คิดใคร่ครวญสิ่งที่เราอ่าน, อธิษฐาน, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และร่วมในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร? นั่นเป็นเพราะผู้ปกครองในประชาคมกระตุ้นเราให้ทำไหม? จริงอยู่ เรารู้สึกขอบคุณที่ผู้ปกครองคอยเตือนเราไม่ให้ละเลยกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น. แต่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียนเพราะเราถูกกระตุ้นโดยพระวิญญาณของพระเจ้าให้แสดงความรักจากหัวใจต่อพระยะโฮวา. นอกจากนั้น เราเองแน่ใจ ว่า พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำกิจกรรมเหล่านั้น. (ซคา. 4:6; เอเฟ. 5:10) เรามีความยินดีและอิ่มใจอย่างมากเมื่อตระหนักว่า ด้วยการดำเนินชีวิตแบบคริสเตียนแท้ เราสามารถเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้.
ของประทานที่ต่างกัน
4, 5. คริสเตียนผู้ปกครองควรใช้ของประทานที่พระเจ้าประทานให้อย่างไร?
4 อ่านโรม 12:6-8, 11. เปาโลอธิบายว่า “เราได้รับของ ประทานต่างกันตามพระกรุณาอันใหญ่หลวงที่ทรงแสดงต่อเรา.” ของประทานบางอย่างที่เปาโลกล่าวถึง คือการกระตุ้นเตือนและการนำหน้า เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับคริสเตียนผู้ปกครองซึ่งได้รับการเตือนให้นำหน้า “ด้วยความตั้งใจจริง.”
5 เปาโลกล่าวว่า ความตั้งใจแบบเดียวกันควรปรากฏชัดในวิธีที่ผู้ดูแลทำหน้าที่เป็นผู้สอนและใน “การรับใช้.” บริบทดูเหมือนจะบ่งบอกว่าในที่นี้เปาโลกล่าวถึง “การรับใช้” ที่ทำภายในประชาคมหรือ “กายเดียว.” (โรม 12:4, 5) การรับใช้นั้นคล้ายกับที่กล่าวถึงในกิจการ 6:4 ซึ่งท่านอัครสาวกประกาศว่า “พวกเราจะทุ่มเทตัวในการอธิษฐานและงานสอนพระคำของพระเจ้า.” การรับใช้เช่นนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร? คริสเตียนผู้ปกครองใช้ของประทานที่ตนได้รับเพื่อเสริมสร้างสมาชิกในประชาคม. ผู้ปกครองต้องตั้งใจทำหน้าที่แนะนำและสั่งสอนประชาคม. พวกเขาทำงานนี้อย่างเหมาะสมโดยศึกษา, ค้นคว้า, สอน, และบำรุงเลี้ยง. เมื่อทำอย่างนั้น พวกเขาแสดงตัวว่าเป็นผู้ “รับใช้” ที่ขยันขันแข็ง. ผู้ดูแลควรใช้ของประทานที่ตนได้รับอย่างสำนึกในหน้าที่และดูแลแกะ “ด้วยใจยินดี.”—โรม 12:7, 8; 1 เป. 5:1-3
6. เราจะทำตามคำแนะนำในโรม 12:11 ซึ่งเป็นข้อคัมภีร์หลักของบทความนี้ได้อย่างไร?
6 เปาโลกล่าวต่อไปว่า “อย่าเกียจคร้านในการงานของพวกท่าน. จงรุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ. จงรับใช้พระยะโฮวาอย่างทาสที่ขยันขันแข็ง.” ถ้าเราพบว่าเราไม่กระตือรือร้นในงานรับใช้ เราอาจจำเป็นต้องปรับปรุงนิสัยการศึกษาของเราและอธิษฐานอย่างแรงกล้ายิ่งขึ้นและบ่อยขึ้นเพื่อขอพระวิญญาณจากพระยะโฮวา ซึ่งสามารถช่วยเราให้ต่อสู้กับความเฉื่อยชาและฟื้นฟูใจที่แรงกล้าขึ้นมาใหม่. (ลูกา 11:9, 13; วิ. 2:4; 3:14, 15, 19) พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้พลังแก่คริสเตียนในยุคแรกที่จะพูดเกี่ยวกับ “ราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า.” (กิจ. 2:4, 11) ในทำนองเดียวกัน พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถกระตุ้นเราให้มีใจแรงกล้าในงานรับใช้ ให้ “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ.”
ความถ่อมใจและความเจียมตัว
7. เหตุใดเราควรรับใช้ด้วยความถ่อมใจและเจียมตัว?
7 อ่านโรม 12:3, 16. ของประทานที่เรามีนั้นก็เนื่องด้วย “พระกรุณาอันใหญ่หลวง” ของพระยะโฮวา. เปาโลกล่าวไว้ในอีกที่หนึ่งว่า “คุณสมบัติที่เหมาะสมของเรานั้นมาจากพระเจ้า.” (2 โค. 3:5) ด้วยเหตุนั้น เราไม่ควรพยายามนำคำสรรเสริญมาสู่ตัวเอง. เราควรยอมรับอย่างถ่อมใจว่าผลสำเร็จใด ๆ ที่เราอาจมีในงานรับใช้เป็นผลมาจากการอวยพรของพระเจ้า ไม่ใช่เพราะความสามารถของตัวเราเอง. (1 โค. 3:6, 7) เปาโลกล่าวสอดคล้องกับเรื่องนี้ว่า “ข้าพเจ้าบอกพวกท่านทุกคนว่า อย่าคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็น.” จริงอยู่ เราจำเป็นต้องมีความนับถือตัวเองและมีความอิ่มใจยินดีในงานรับใช้พระยะโฮวา. แต่การเป็นคน เจียมตัวหรือตระหนักถึงข้อจำกัดของเราจะป้องกันเราไว้ไม่ให้ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องการ “คิดอย่างคนที่มีสติ.”
8. เราจะหลีกเลี่ยงการ “ถือว่าตัวฉลาด” ได้อย่างไร?
8 คงเป็นเรื่องโง่เขลาที่เราจะโอ้อวดความสำเร็จของตัวเอง. ‘พระเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ทำให้เติบโต.’ (1 โค. 3:7) เปาโลกล่าวว่าพระเจ้าได้ประทาน “ตามขนาดของความเชื่อ” แก่สมาชิกแต่ละคนของประชาคม. แทนที่จะรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า เราควรยอมรับงานรับใช้ที่คนอื่น ๆ กำลังทำให้สำเร็จตามขนาดความเชื่อของพวกเขา. เปาโลกล่าวอีกว่า “จงมองคนอื่นอย่างที่มองตนเอง.” ในจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ท่านอัครสาวกบอกเราว่าอย่า “ทำอะไรด้วยน้ำใจชิงดีชิงเด่นหรือด้วยความถือดี แต่ให้ถ่อมใจถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.” (ฟิลิป. 2:3) เป็นเรื่องที่ต้องมีความถ่อมใจอย่างแท้จริงและความพยายามอย่างจริงจังที่จะยอมรับว่าพี่น้องของเราแต่ละคนมีอะไรที่ดีกว่าเราในทางใดทางหนึ่ง. ความถ่อมใจจะป้องกันเราไว้จากการ “ถือว่าตัวฉลาด.” แม้ว่าหน้าที่รับผิดชอบพิเศษบางอย่างอาจทำให้บางคนเป็นจุดสนใจของคนอื่น ๆ แต่ทุกคนจะอิ่มใจยินดีเมื่อ “ถ่อมใจลง” ด้วยการทำงานที่ต่ำต้อยซึ่งผู้คนมักไม่สังเกตเห็น.—1 เป. 5:5
เอกภาพของเราในฐานะคริสเตียน
9. เหตุใดเปาโลจึงเปรียบคริสเตียนที่กำเนิดด้วยพระวิญญาณกับอวัยวะของร่างกาย?
9 อ่านโรม 12:4, 5, 9, 10. เปาโลเปรียบคริสเตียนผู้ถูกเจิมกับอวัยวะของร่างกายซึ่งทำหน้าที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ประมุขของพวกเขา คือพระคริสต์. (โกโล. 1:18) ท่านเตือนคริสเตียนที่กำเนิดด้วยพระวิญญาณว่าร่างกายเดียวมีหลายอวัยวะที่ทำหน้าที่ต่างกันไป และพวกเขา “แม้ . . . เป็นอวัยวะหลายอย่าง แต่ก็เป็นกายเดียวกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์.” ในทำนองเดียวกัน เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนผู้ถูกเจิมในเมืองเอเฟโซส์ว่า “ให้เราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในทุกด้านด้วยความรักตามอย่างพระองค์ผู้เป็นประมุข คือพระคริสต์. เนื่องจากพระองค์ ทุกส่วนของพระกายซึ่งเชื่อมต่อกันอย่างดีและประสานงานกันโดยที่ทุกข้อต่อให้สิ่งจำเป็นตามขนาดที่เหมาะสมกับหน้าที่ของอวัยวะแต่ละส่วนจึงทำให้พระกายเจริญเติบโตเพื่อให้พระกายเจริญขึ้นด้วยความรัก.”—เอเฟ. 4:15, 16
10. “แกะอื่น” ควรยอมรับอำนาจอะไร?
10 แม้ว่า “แกะอื่น” ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระคริสต์ พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้มากจากตัวอย่างเปรียบเทียบนี้. (โย. 10:16) เปาโลเน้นว่าพระยะโฮวา “ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาท [พระคริสต์] ด้วย และทรงตั้งพระองค์เป็นประมุขเหนือทุกสิ่งเพื่อประโยชน์ของประชาคม.” (เอเฟ. 1:22) ปัจจุบัน แกะอื่นเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุกสิ่ง” ที่พระยะโฮวาทรงจัดไว้ให้อยู่ใต้อำนาจความเป็นประมุขของพระบุตร. พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของ “ทรัพย์สมบัติ” ที่พระคริสต์ได้มอบไว้กับ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัด. 24:45-47) ด้วยเหตุนั้น คนที่มีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลกจึงยอมรับพระคริสต์เป็นประมุขของพวกเขา รวมทั้งยอมรับอำนาจของทาสสัตย์ซื่อและสุขุม, คณะกรรมการปกครองของทาสนั้น, และคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลในประชาคม. (ฮีบรู 13:7, 17) การยอมรับอำนาจเช่นนั้นส่งเสริมให้คริสเตียนมีเอกภาพ.
11. เอกภาพของพวกเราอาศัยอะไรเป็นพื้นฐาน และเปาโลให้คำแนะนำอะไรอีก?
11 เอกภาพเช่นนั้นอาศัยความรักเป็นพื้นฐาน เพราะความรักเป็น “สิ่งที่ผูกพันผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์.” (โกโล. 3:14) ในโรมบท 12 เปาโลเน้นเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าความรักของเราควร “ปราศจากมารยา” และเราควร “มีความรักใคร่อันอบอุ่นต่อกันฉันพี่น้อง.” เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะมีความนับถือต่อกัน. ท่านอัครสาวกกล่าวว่า “จงนำหน้าในการให้เกียรติกัน.” แน่นอน เราต้องไม่เข้าใจสับสนว่าความรักในที่นี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์อันอ่อนไหว. เราควรทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรักษาประชาคมให้สะอาด. เมื่อให้คำแนะนำในเรื่องความรัก เปาโลกล่าวเพิ่มเติมว่า “จงเกลียดสิ่งชั่ว จงยึดมั่นกับสิ่งดี.”
น้ำใจรับรองแขก
12. ในเรื่องการมีน้ำใจรับรองแขก เราอาจเรียนอะไรได้จากคริสเตียนในมาซิโดเนียโบราณ?
12 อ่านโรม 12:13. ความรักที่เรามีต่อพี่น้องจะกระตุ้นเราให้ “แบ่งปันแก่เหล่าผู้บริสุทธิ์ตามความจำเป็นของพวกเขา” และตามความสามารถของเรา. แม้ว่าเรามีวัตถุสิ่งของไม่มาก เราสามารถแบ่งปันสิ่งที่เรามี. เปาโลเขียนเกี่ยวกับคริสเตียนในมาซิโดเนียว่า “ตอนที่พวกเขาได้รับความลำบากในช่วงที่เกิดการทดสอบครั้งใหญ่นั้น พวกเขาแสดงความยินดีอันอุดมและน้ำใจเอื้อเฟื้อทั้ง ๆ ที่ยากจนข้นแค้น. พวกเขาแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อตามที่ทำได้ ข้าพเจ้ายืนยันว่า พวกเขาทำมากกว่าที่ทำได้เสียอีก เพราะพวกเขาเฝ้าขอร้องเราให้พวกเขาได้บริจาคและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเหล่าผู้บริสุทธิ์ [ในยูเดีย] ด้วย.” (2 โค. 8:2-4) แม้ว่าพวกเขายากจน คริสเตียนในมาซิโดเนียมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ. พวกเขาถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่จะแบ่งปันให้แก่พี่น้องที่ขัดสนในยูเดีย.
13. วลี “จงมีน้ำใจรับรองแขก” มีความหมายอย่างไร?
13 วลี “จงมีน้ำใจรับรองแขก” แปลจากคำภาษากรีกซึ่งมีความหมายของการมีความคิดริเริ่มแฝงอยู่. เดอะ นิว เจรูซาเลม ไบเบิล แปลวลีนี้ว่า “จงมองหาโอกาสที่จะแสดงน้ำใจรับรองแขก.” บางครั้ง อาจแสดงน้ำใจรับรองแขกได้ด้วยการเชิญบางคนมารับประทานอาหาร และเมื่อทำอย่างนี้ด้วยความรักก็นับว่าเป็นเรื่องน่าชมเชย. แต่ถ้าเรามีความคิดริเริ่ม เราจะพบอีกหลายวิธีที่จะแสดงน้ำใจรับรองแขก. สิ่งหนึ่งที่เราอาจทำได้ ถ้าเรามีกำลังกายหรือกำลังทรัพย์ไม่พอจะเชิญคนอื่นมารับประทานอาหาร แค่เชิญมาดื่มชา, กาแฟ, หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เราจะแสดงน้ำใจรับรองแขกได้ด้วย.
14. (ก) คำภาษากรีกที่แปลว่า “น้ำใจรับรองแขก” มีรากศัพท์มาจากคำใด? (ข) เราจะแสดงความห่วงใยต่อคนต่างชาติในงานรับใช้ของเราได้โดยวิธีใด?
14 การมีน้ำใจรับรองแขกเกี่ยวข้องกับทัศนะของเรา. คำภาษากรีกที่แปลว่า “น้ำใจรับรองแขก” มีรากศัพท์มาจากสองคำซึ่งมีความหมายว่า “รัก” และ “คนแปลกหน้า.” เรามีความรู้สึกอย่างไรต่อคนแปลกหน้าหรือคนต่างชาติ? อาจนับได้ว่าคริสเตียนที่พยายามเรียนรู้อีกภาษาหนึ่งเพื่อจะประกาศข่าวดีกับคนต่างชาติที่ย้ายมาอยู่ในเขตของประชาคมเป็นคนที่กำลังแสดงน้ำใจรับรองแขกอย่างแท้จริง. แน่นอน หลายคนในพวกเราไม่สามารถเรียนภาษาอื่นได้. ถึงกระนั้น เราทุกคนสามารถมีส่วนในการช่วยคนต่างชาติได้โดยใช้หนังสือเล่มเล็กข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ ซึ่งมีข่าวสาร
จากคัมภีร์ไบเบิลในหลายภาษา. คุณเคยเห็นผลดีจากการใช้หนังสือเล่มเล็กนี้ในงานรับใช้ไหม?แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน
15. พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างตามคำแนะนำในโรม 12:15 อย่างไร?
15 อ่านโรม 12:15. อาจสรุปคำแนะนำของเปาโลได้สั้น ๆ ว่า จงแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน. เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นและแม้แต่ร่วมความรู้สึกกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกยินดีหรือโศกเศร้า. ถ้าเรารุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ ความรู้สึกของเราที่ร่วมยินดีกับผู้อื่นหรือความเมตตาสงสารก็จะเห็นได้ชัด. เมื่อสาวก 70 คนของพระคริสต์กลับจากการประกาศด้วยความยินดีและเล่าถึงผลดีของงานที่พวกเขาทำ พระเยซูเอง “ทรงยินดียิ่งและเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (ลูกา 10:17-21) พระองค์ทรงร่วมยินดีกับพวกเขา. ในทางตรงกันข้าม พระเยซู “ร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” เมื่อลาซะโรสหายของพระองค์ตาย.—โย. 11:32-35
16. เราจะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้โดยวิธีใด และใครโดยเฉพาะที่จำเป็นต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจ?
16 เราต้องการทำตามแบบอย่างของพระเยซูในเรื่องการแสดงความเห็นอกเห็นใจ. เมื่อเพื่อนคริสเตียนยินดี เราอยากจะร่วมยินดีกับเขา. คล้ายกัน เราควรพร้อมจะแสดงความเห็นอกเห็นใจเมื่อพี่น้องของเราเป็นทุกข์โศกเศร้า. บ่อยครั้ง เราสามารถบรรเทาความทุกข์ใจของเพื่อนร่วมความเชื่อได้มากถ้าเราให้เวลาที่จะฟังพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ. และบางครั้งเราอาจพบว่าเรารู้สึกสะเทือนใจจนถึงกับร้องไห้เพราะรู้สึกเห็นอกเห็นใจเขาอย่างแท้จริง. (1 เป. 1:22) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองควรทำตามคำแนะนำที่เปาโลให้ไว้ในเรื่องการแสดงความเห็นอกเห็นใจ.
17. จนถึงตอนนี้ เราได้เรียนอะไรจากโรมบท 12 และเราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
17 แต่ละข้อในโรมบท 12 ที่เราได้พิจารณาจนถึงตอนนี้ให้คำแนะนำที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตของเราเองในฐานะคริสเตียนและสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับพี่น้อง. ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาข้อที่เหลือของบทนี้ ซึ่งพิจารณาเกี่ยวกับทัศนะที่เราควรมีและวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียน รวมทั้งพวกผู้ต่อต้านและผู้ที่ข่มเหงเราด้วย.
เพื่อทบทวน
• เราจะแสดงได้อย่างไรว่าเรา “รุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณ”?
• เหตุใดเราควรรับใช้พระเจ้าด้วยความถ่อมใจและเจียมตัว?
• เราอาจแสดงความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาสงสารต่อเพื่อนร่วมความเชื่อได้โดยวิธีใดบ้าง?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 4]
เหตุใดเราจึงทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน?
[ภาพหน้า 6]
เราแต่ละคนจะมีส่วนในการช่วยคนต่างชาติให้เรียนรู้เรื่องราชอาณาจักรได้โดยวิธีใด?