จดหมายเหตุของเรา
“เรื่องที่ไม่มีวันลืม” มาทันเวลาพอดี
“เรื่องที่ไม่มีวันลืม!” นี่เป็นคำพูดที่หลายคนพรรณนา “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (ภาคพิเศษ). ภาพยนตร์นี้มาทันเวลาพอดีและสร้างความประทับใจอย่างไม่ลืมเลือนแก่คนที่ได้รับชม. ที่จริง “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (ภาคพิเศษ) นี้เป็นวิธีประกาศที่ยอดเยี่ยมวิธีหนึ่งซึ่งทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ. หลังจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์ก็ข่มเหงประชาชนของพระเจ้าอย่างรุนแรงในยุโรป. แต่ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (ภาคพิเศษ) นี้คืออะไร?
ในปี 1914 สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ออก “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง.” ภาพยนตร์นี้เป็นภาพสไลด์และภาพเคลื่อนไหวซึ่งยาวแปดชั่วโมงซึ่งมีครบทั้งภาพที่เป็นสีและเสียงประกอบ. มีหลายล้านคนทั่วโลกได้ชม “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” นี้. มีการออกภาคย่อของภาพยนตร์นี้ด้วยในปี 1914 ซึ่งมีชื่อว่า “ยูรีคา ดรามา.” อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษ 1920 ภาพสไลด์ ฟิล์ม และเครื่องฉายชำรุดเสียหายไปมาก. แต่มีเสียงเรียกร้องมากมายขอให้ฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” อีก. ตัวอย่างเช่น ชาวเมืองลุดวิกส์บูร์ก ประเทศเยอรมนี ถามว่า “จะมีการฉาย ‘ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง’ อีกเมื่อไร?” พี่น้องของเราจะทำอย่างไร?
เพื่อสนองความต้องการให้มีการฉายภาพยนตร์นี้ต่อไปได้ ในทศวรรษ 1920 ตัวแทนครอบครัวเบเธลที่เมืองมักเดบูร์ก ประเทศเยอรมนี จึงซื้อฟิล์มภาพยนตร์จากสำนักข่าวในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และภาพสไลด์จากบริษัทกราฟฟิกส์ในเมืองไลพ์ซิกและเดรสเดิน. พวกเขานำฟิล์มและภาพสไลด์เหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันกับภาพสไลด์เก่าของ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” ที่ยังใช้ได้.
บราเดอร์เอริค ฟรอสต์ ซึ่งเป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์ ได้แต่งดนตรีประกอบการฉายภาพยนตร์และภาพสไลด์. คำบรรยายเรื่องส่วนหนึ่งได้มาจากหนังสือการทรงสร้าง (ภาษาเยอรมัน เชิพฟุง). นั่นคือเหตุผลที่ภาคปรับปรุงใหม่ของ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” นี้มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า “เชิพฟุง ดรามา”
ภาพยนตร์ภาคพิเศษนี้มีความยาวเท่ากับ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” คือแปดชั่วโมง และฉายให้ผู้ชมดูเป็นตอนๆต่อเนื่องหลายคืน. ภาพยนตร์นี้ให้รายละเอียดที่จับความสนใจผู้ชมได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับวันแห่งการทรงสร้าง พิจารณาประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลและประวัติศาสตร์โลก และชี้ชัดว่าศาสนาเท็จได้ชักนำผู้คนไปผิดทาง. มีการฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (ภาคพิเศษ) นี้ที่ออสเตรีย เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงที่อื่นๆด้วยที่พูดภาษาเยอรมัน.
บราเดอร์เอริค ฟรอสต์อธิบายว่า “เมื่อฉายภาพยนตร์นี้ ผมสนับสนุนให้เพื่อนๆ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงออร์เคสตรา ใช้ช่วงหยุดพักเดินไปตามแถวที่ นั่งของผู้ชมและเสนอหนังสือและหนังสือเล่มเล็กแก่พวกเขา. เราเสนอหนังสือด้วยวิธีนี้ได้มากกว่าการเสนอตามบ้าน.” โยฮันเนส เราเทอ ซึ่งทำหน้าที่จัดฉายภาพยนตร์นี้ในโปแลนด์และส่วนที่ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเช็ก เล่าว่าหลายคนที่มาชมภาพยนตร์ให้ที่อยู่ไว้กับพี่น้องเพื่อจะเยี่ยมพวกเขาได้. พี่น้องสามารถไปเยี่ยมคนเหล่านั้นและพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันกับพวกเขาได้เป็นอย่างดี.
เมื่อถึงทศวรรษ 1930 มีการฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (ภาคพิเศษ) ในโรงภาพยนตร์ต่างๆที่มีผู้ชมเต็มแน่น และผู้คนในเมืองเหล่านั้นต่างก็พูดถึงพยานพระยะโฮวา. พอถึงปี 1933 มีประชาชนเกือบหนึ่งล้านคนได้เข้าชมภาพยนตร์นี้ที่สำนักงานสาขาเยอรมนีเป็นผู้จัดฉาย. แคเทอ เคราส์เล่าว่า “เพื่อจะได้ดูภาพยนตร์นี้ทั้งห้าวัน เราต้องเดินไปกลับ 20 กิโลเมตรทุกวัน ผ่านป่าและขึ้นเขาลงห้วย.” เอลเซอ บิลล์ฮาร์ซกล่าวว่า “‘ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง’ (ภาคพิเศษ) ช่วยวางรากฐานไว้ให้ดิฉันรักความจริง.”
อัลเฟรด อัลเมนดิงเงอเล่าว่าเมื่อแม่ของเขาได้ชมภาพยนตร์นี้ “แม่ตื่นเต้นมากจนถึงกับซื้อคัมภีร์ไบเบิลมาเล่มหนึ่งและค้นหาคำว่า ‘ไฟชำระ.’” เนื่องจากเธอหาคำนี้ในพระคัมภีร์ไม่พบ เธอจึงเลิกไปโบสถ์และรับบัพติสมา. เอริค ฟรอสต์เล่าว่า “มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาในความจริงเพราะภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง (ภาคพิเศษ) นี้.”
ขณะที่การฉายภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง (ภาคพิเศษ) นี้มาถึงจุดสูงสุด พรรคนาซีก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในยุโรปและเริ่มสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย. นับตั้งแต่ปี 1933 กิจกรรมของพยานพระยะโฮวาในประเทศเยอรมนีถูกสั่งห้าม. ตั้งแต่นั้นมาและจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในยุโรปถูกข่มเหงอย่างรุนแรง. เอริค ฟรอสต์ถูกกักกันเป็นเวลาประมาณแปดปี. แต่เขารอดชีวิตมาได้และต่อมาได้รับใช้ที่เบเธลในเมืองวีสบาเดิน ประเทศเยอรมนี. นับเป็นเรื่องยอดเยี่ยมจริงๆที่ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (ภาคพิเศษ) ซึ่งเราจะไม่มีวันลืมมาทำหน้าที่ได้ทันเวลาพอดีเพื่อเสริมความกล้าหาญของคริสเตียนมากมายที่กำลังจะเผชิญการทดสอบความเชื่อในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง!—จดหมายเหตุของเราในเยอรมนี