ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พ่อ แม่ ลูก—พูดคุยกันด้วยความรัก

พ่อ แม่ ลูก—พูดคุยกันด้วยความรัก

“ทุกคนต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.”—ยโก. 1:19

1, 2. โดยทั่วไปพ่อแม่กับลูกรู้สึกอย่างไรต่อกัน แต่อะไรอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาในบางครั้ง?

เมื่อถามเด็กหลายร้อยคนในสหรัฐว่า “ถ้าสมมุติว่าพ่อแม่คุณจะตายในวันพรุ่งนี้ คุณอยากจะพูดอะไรกับท่านมากที่สุด?” ส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาไม่ต้องการพูดถึงปัญหาหรือความขัดแย้ง แต่อยากบอกพ่อแม่ว่า “ผม (หนู) ขอโทษที่ทำตัวไม่น่ารัก” และ “ผม (หนู) รักพ่อแม่มาก.”—หนังสือสำหรับพ่อแม่เท่านั้น (ภาษาอังกฤษ) โดยชอนที เฟลด์ฮาห์น และ ลิซา ไรซ์

2 โดยทั่วไปแล้ว ลูกรักพ่อแม่และพ่อแม่ก็รักลูก. นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของคริสเตียน. แม้ว่าเป็นอย่างนั้น บางครั้งการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับลูกไม่ใช่เรื่องง่าย. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? อะไรทำให้เป็นเรื่องยากที่พ่อแม่กับลูกจะพูดคุยกันในบางเรื่อง? พ่อแม่กับลูกอาจทำอะไรได้เพื่อจะพูดคุยกันได้ดีขึ้น?

แทนที่จะต่างคนต่างอยู่ คุณจะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นได้ไหม?

หาเวลาพูดคุยกัน

3. (ก) ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่หลายครอบครัวจะพูดคุยกัน? (ข) ทำไมจึงง่ายกว่าที่ครอบครัวชาวอิสราเอลในสมัยโบราณจะพูดคุยกัน?

3 หลายครอบครัวรู้สึกว่าไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยกัน. แต่ไม่เป็นอย่างนั้นในสมัยของชาติอิสราเอลโบราณ. เมื่อโมเซสั่งชาวอิสราเอลที่เป็นพ่อให้สอนกฎหมายของพระเจ้าแก่ลูกๆของเขา ท่านกล่าวว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” (บัญ. 6:6, 7) ในสมัยนั้น ลูกอยู่กับแม่ทั้งวันที่บ้านหรือไม่ก็อยู่กับพ่อทั้งวันในไร่นาหรือในที่ที่พ่อทำงาน. มีเวลามากมายที่ลูกกับพ่อแม่จะอยู่ด้วยกันและพูดคุยกัน. ในเมื่อเป็นอย่างนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่พ่อแม่จะรู้ว่าลูกมีความจำเป็นต้องได้รับ อะไร มีความปรารถนาเช่นไร และมีนิสัยใจคออย่างไร. และลูกก็จะรู้จักพ่อแม่ได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน.

4. อะไรทำให้เป็นเรื่องยากที่ครอบครัวในทุกวันนี้จะพูดคุยกัน?

4 ชีวิตในทุกวันนี้แตกต่างจากสมัยก่อนมาก! ในบางประเทศ ลูกเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลเมื่ออายุยังน้อย บางครั้งตั้งแต่อายุแค่สองขวบ. พ่อแม่หลายคนทำงานนอกบ้าน. และเมื่อพ่อแม่กับลูกอยู่ด้วยกัน พวกเขามักใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ. ในหลายครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ต่างคนต่างอยู่จนเกือบจะกลายเป็นคนแปลกหน้า และแทบไม่ได้พูดคุยกันเลย.

5, 6. พ่อแม่บางคนได้ปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อจะมีเวลาให้ลูกมากขึ้น?

5 คุณคิดออกไหมว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อคุณจะมีเวลามากขึ้นกับครอบครัว? (อ่านเอเฟโซส์ 5:15, 16) บางครอบครัวจำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์หรือในการใช้คอมพิวเตอร์. บางครอบครัวตกลงกันว่าจะพยายามรับประทานอาหารด้วยกันทุกวัน อย่างน้อยหนึ่งมื้อ. การนมัสการประจำครอบครัวทำให้มีโอกาสดีเยี่ยมที่พ่อแม่และลูกจะใกล้ชิดกันมากขึ้นและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกัน. แต่นี่ไม่ใช่โอกาสเดียวที่ครอบครัวควรพูดคุยกัน. พวกเขาควรหาเวลาคุยกันทุกวัน. ก่อนลูกจะไปโรงเรียน คุณน่าจะพูดอะไรบางอย่างที่ให้กำลังใจลูก พิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวันด้วยกัน หรืออธิษฐานด้วยกัน. การทำอย่างนี้จะช่วยลูกได้มากในวันนั้น.

6 พ่อแม่บางคนสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของเขาเพื่อจะมีเวลาให้ลูกมากขึ้น. ตัวอย่างเช่น ลอรา  * ซึ่งมีลูกสองคนที่อายุยังน้อย ลาออกจากงานเต็มเวลาด้วยเหตุผลนี้. เธอบอกว่า “ในตอนเช้า เราทุกคนต้องรีบออกจากบ้านไปทำงานและไปโรงเรียน. เมื่อดิฉันกลับถึงบ้าน ลูกก็หลับไปแล้ว โดย ต้องให้พี่เลี้ยงเป็นคนพาเข้านอน.” นับตั้งแต่ลอราลาออกจากงาน ครอบครัวเธอมีรายได้น้อยลง แต่เธอรู้สึกว่าตอนนี้เธอรู้จริงๆว่าลูกคิดอย่างไรและมีปัญหาอะไร. เธอบอกด้วยว่า “ดิฉันฟังลูกพูดเมื่อเขาอธิษฐาน และนั่นทำให้ดิฉันสามารถแนะนำ ให้กำลังใจ และสอนเขาได้.”

“ไวในการฟัง”

7. ทั้งพ่อแม่และลูกมักบ่นเรื่องอะไร?

7 หลังจากสัมภาษณ์วัยรุ่นหลายคน ผู้เขียนหนังสือสำหรับพ่อแม่เท่านั้น กล่าวว่า “สิ่งที่ลูกบ่นมากที่สุดเกี่ยวกับพ่อแม่คือ ‘ท่านไม่ยอมฟังเราเลย.’” แต่พ่อแม่ก็มักจะบ่นแบบเดียวกันว่าลูกไม่ฟังเขา. ดังนั้น เพื่อทุกคนในครอบครัวจะพูดคุยกันเป็นอย่างดี พวกเขาต้องตั้งใจฟังกันจริงๆ.—อ่านยาโกโบ 1:19

8. พ่อแม่จะฟังลูกจริงๆได้อย่างไร?

8 พ่อแม่ทั้งหลาย คุณฟังลูกจริงๆไหม? การทำอย่างนี้อาจเป็นเรื่องยากเมื่อคุณเหนื่อยหรือเมื่อลูกอยากพูดเรื่องที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคุณ. แต่จำไว้ว่า สิ่งที่ดูเหมือนไม่ค่อยสำคัญสำหรับคุณอาจเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับลูก. การ “ไวในการฟัง” หมายถึงการที่คุณไม่เพียงแต่สนใจฟังเรื่องที่ลูกพูด แต่ยังรวมถึงสนใจว่าเขาพูดอย่างไรด้วย. น้ำเสียงและสีหน้าท่าทางของลูกจะบอกคุณได้มากว่าเขารู้สึกอย่างไร. นับว่าสำคัญด้วยที่จะใช้คำถาม. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความมุ่งหมายในใจคนลึกเหมือนน้ำลึก; แต่คนที่มีความเข้าใจจะยกขึ้นมาได้.” (สุภา. 20:5) คุณต้องมีความเข้าใจเมื่อพูดกับลูก คือต้องหาวิธีที่จะรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรจริงๆ. เรื่องนี้นับว่าสำคัญเป็นพิเศษเมื่อคุณคุยกับลูกในเรื่องที่เขาไม่ค่อยอยากจะพูดถึง.

9. ทำไมลูกควรเชื่อฟังพ่อแม่?

9 เด็กๆทั้งหลาย คุณเชื่อฟังพ่อแม่ไหม? พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ลูกเอ๋ย จงฟังคำสั่งสอนของพ่อเจ้า และอย่าทิ้งคำสอนของแม่เจ้า.” (สุภา. 1:8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน ) ขอให้จำไว้ว่าพ่อแม่รักคุณและต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คุณ คุณจึงควรฟังและทำตามคำสั่งสอนของท่าน. (เอเฟ. 6:1) ถ้าคุณกับพ่อแม่พูดคุยกันอยู่เสมอและถ้าคุณจำไว้ว่าท่านรักคุณ นั่นจะทำให้ง่ายขึ้นที่คุณจะเชื่อฟังท่าน. ดังนั้น ขอให้บอกพ่อแม่ว่าคุณรู้สึกอย่างไรในเรื่องต่างๆ. การทำอย่างนี้จะช่วยท่านให้เข้าใจคุณ. แน่นอน คุณเองก็ควรพยายามเข้าใจท่านด้วย.

10. เราเรียนอะไรได้จากเรื่องของระฮับอาม?

10 คุณเคยทำตามคำแนะนำของเพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกันไหม? จงระวัง. คำแนะนำของพวกเขาอาจฟังดูดีสำหรับคุณ แต่อาจไม่เป็นประโยชน์สำหรับคุณเลย. ที่จริง คำแนะนำนั้นอาจทำให้คุณได้รับความเสียหายด้วยซ้ำ. เนื่องจากขาดสติปัญญาและประสบการณ์อย่างที่ผู้ใหญ่มี คนที่อายุยังน้อยส่วนใหญ่จึงไม่ได้คิดว่าการตัดสินใจที่เขาทำในตอนนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่พวกเขาในอนาคต. ขอให้นึกถึงตัวอย่างของระฮับอาม ราชบุตรของกษัตริย์โซโลมอน. เมื่อเขาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล เขาควรทำตามคำแนะนำของเหล่าผู้เฒ่าผู้แก่. แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น เขากลับทำตามคำแนะนำอันโง่เขลาของคนหนุ่มที่เติบโตมาด้วยกัน. ผลก็คือ ราษฎรส่วนใหญ่ในอาณาจักรของเขาไม่สนับสนุนเขาอีกต่อไป. (1 กษัต. 12:1-17) อย่าเลียนแบบระฮับอาม. ขอให้คุยกับพ่อแม่ของคุณว่าคุณคิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไร. ทำตามคำแนะนำของท่าน และเรียนรู้จากสติปัญญาของท่าน.—สุภา. 13:20

11. อาจเกิดปัญหาอะไรขึ้นถ้าพ่อแม่เป็นคนที่คุยได้ยาก?

11 พ่อแม่ทั้งหลาย ถ้าคุณไม่ต้องการให้ลูกไปขอคำแนะนำจากเพื่อน คุณควรวางตัวแบบที่ลูกจะเข้า หาและคุยกับคุณได้ง่าย. พี่น้องหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งเขียนว่าพ่อแม่เธอจะกระสับกระส่ายทุกครั้งที่เธอพูดถึงเพื่อนผู้ชาย. เรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดและไม่อยากจะพูดต่อ. พี่น้องหญิงวัยรุ่นอีกคนหนึ่งเขียนว่า “วัยรุ่นหลายคนอยากได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สนใจจริงๆที่จะให้คำแนะนำเขา เขาก็จะหาคำแนะนำจากคนอื่นที่อาจมีประสบการณ์น้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ.” ถ้าคุณพร้อมจะฟังลูกอย่างเห็นอกเห็นใจในทุกเรื่อง เขาก็จะรู้สึกสบายใจและคุยกับคุณอย่างไม่ปิดบัง และพร้อมจะทำตามคำแนะนำของคุณ.

“ช้าในการพูด”

12. ปฏิกิริยาของพ่อแม่อาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุยกับลูกอย่างไร?

12 อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่อาจเป็นเพราะปฏิกิริยาของพ่อแม่. พ่อแม่อาจแสดงความไม่พอใจออกมาทันทีที่ลูกบอกอะไรกับเขา. แน่นอน มีอันตรายมากมายในสมัยสุดท้ายนี้ และพ่อแม่คริสเตียนต้องการปกป้องลูก. (2 ติโม. 3:1-5) แต่ลูกอาจไม่ได้มองแบบเดียวกับพ่อแม่และอาจรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ให้อิสระแก่เขาเลย.

13. ทำไมพ่อแม่ควรระวังที่จะไม่แสดงความเห็นเร็วเกินไป?

13 พ่อแม่ควรระวังที่จะไม่แสดงความเห็นเร็วเกินไป. จริงอยู่ เมื่อลูกอารมณ์ไม่ดีและพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณเจ็บปวดใจ อาจเป็นเรื่องยากที่คุณจะไม่พูด. แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะตั้งใจฟังลูกให้ดีๆก่อนจะพูดอะไรออกมา. กษัตริย์โซโลมอนผู้ชาญฉลาดเขียนไว้ว่า “ผู้ที่ให้คำตอบก่อนได้ยินเรื่อง, ก็เป็นการโฉดเขลาและเป็นความน่าอายแก่ตน.” (สุภา. 18:13) ถ้าคุณควบคุมอารมณ์ไว้และฟังลูก คุณอาจเข้าใจสาเหตุที่เขา “พูดไม่ยั้งคิด.” (โยบ 6:1-3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน ) คุณจะช่วยลูกได้จริงๆถ้าคุณเข้าใจเรื่องทั้งหมดก่อน. ในฐานะพ่อแม่ที่รักลูก ขอให้ฟังและพยายามเข้าใจลูกเพื่อสิ่งที่คุณพูดจะช่วยเขาได้จริงๆ.

14. ทำไมลูกควรช้าในการพูด?

14 เด็กทั้งหลาย คุณจำเป็นต้อง “ช้าในการพูด” ด้วย. อย่าลืมว่าพระเจ้าทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้พ่อแม่อบรมสั่งสอนคุณ. ดังนั้น อย่ารีบคัดค้านเมื่อพ่อแม่พูด. (สุภา. 22:6) ท่านอาจเคยประสบเหตุการณ์แบบเดียวกับคุณ. นอกจากนั้น ท่านอาจเสียใจที่เคยผิดพลาดตอนที่เป็นวัยรุ่น และท่านไม่อยากให้คุณผิดพลาดแบบเดียวกัน. พ่อแม่เป็นเพื่อนของคุณ ไม่ใช่ศัตรูของคุณ. ท่านต้องการช่วยคุณ และไม่เคยคิดจะทำร้ายคุณ. (อ่านสุภาษิต 1:5) ‘จงนับถือพ่อแม่’ และแสดงให้ท่านเห็นว่าคุณรักท่านเหมือนกับที่ท่านรักคุณ. นั่นจะทำให้ง่ายขึ้นที่ท่านจะ ‘เลี้ยงดูคุณด้วยการตีสอนจากพระยะโฮวาและปลูกฝังแนวคิดของพระองค์ให้คุณ.’—เอเฟ. 6:2, 4

“ช้าในการโกรธ”

15. อะไรจะช่วยเราให้ควบคุมอารมณ์และแสดงความอดทนกับคนที่เรารัก?

15 บางครั้ง เราอาจขาดความอดทนกับคนที่เรารัก. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโกโลซายว่า “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาเสมอและอย่าเกรี้ยวกราดต่อนาง. บิดาทั้งหลาย อย่ายั่วบุตรให้ขุ่นเคือง พวกเขาจะได้ไม่ท้อใจ.” (โกโล. 1:1, 2; 3:19, 21) เปาโลบอกชาวเอเฟโซส์ว่า “ให้ท่านทั้งหลายขจัดความขุ่นแค้น ความโกรธ การเดือดดาล การตวาด และการพูดหยาบหยามออกไปเสียให้หมดพร้อมกับการชั่วทั้งปวง.” (เอเฟ. 4:31) ถ้าเราพยายามแสดงผลพระวิญญาณของพระเจ้าให้มากขึ้น เช่น ความอดกลั้นไว้นาน ความอ่อนโยน และการควบคุมตนเอง เราก็จะควบคุมอารมณ์ได้ง่ายขึ้นแม้แต่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด.—กลา. 5:22, 23

16. พระเยซูทรงว่ากล่าวแก้ไขเหล่าสาวกอย่างไร และทำไมจึงเป็นเรื่องน่าทึ่งที่พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้น?

 16 ขอให้นึกถึงตัวอย่างของพระเยซู. ลองนึกภาพว่าพระองค์คงเครียดขนาดไหนตอนที่รับประทานอาหารเย็นมื้อสุดท้ายกับเหล่าอัครสาวก. พระเยซูทรงรู้ว่าในอีกไม่กี่ชั่วโมงพระองค์จะสิ้นพระชนม์อย่างช้าๆและเจ็บปวดทรมาน. พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์ต้องรักษาความซื่อสัตย์เพื่อพระนามของพระบิดาจะเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และมนุษย์ทั้งสิ้นจะได้รับความรอด. แต่ขณะที่รับประทานอาหารกันอยู่นั้น เหล่าอัครสาวกเริ่มทุ่มเถียงกันว่าในพวกเขาใครเป็นใหญ่ที่สุด. พระเยซูไม่ได้ตวาดพวกเขาหรือใช้คำพูดที่รุนแรง. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ทรงว่ากล่าวแก้ไขพวกเขาอย่างใจเย็น. พระเยซูทรงเตือนให้พวกเขานึกถึงว่าพวกเขาเคยอยู่เคียงข้างพระองค์ในยามที่พระองค์ถูกทดสอบ. แม้ว่าซาตานจะทดสอบพวกเขา แต่พระเยซูทรงเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะรักษาความซื่อสัตย์. พระองค์ถึงกับทรงสัญญาว่าพวกเขาจะเป็นกษัตริย์กับพระองค์ในสวรรค์.—ลูกา 22:24-32

คุณตั้งใจฟังลูกจริงๆไหม?

17. อะไรจะช่วยเด็กให้ควบคุมอารมณ์ตัวเอง?

17 เด็กก็จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วย. โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นวัยรุ่น คุณอาจไม่ชอบเมื่อพ่อแม่สั่งให้คุณทำโน่นทำนี่. คุณอาจรู้สึกว่าท่านไม่ไว้ใจคุณ. แต่ขอให้จำไว้ว่าพ่อแม่เป็นห่วงคุณเพราะท่านรักคุณ. ถ้าคุณตั้งใจฟังและทำตามคำแนะนำของท่าน ท่านก็จะยอมรับคุณและไว้ใจคุณ. แล้วพ่อแม่ก็อาจให้อิสระแก่คุณมากขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองเป็นคนมีปัญญาโดยกล่าวว่า “คนโฉดมักคายความโกรธของเขาออกมาทั้งหมด; แต่ผู้มีปัญญาย่อมระงับความโกรธของเขาให้หายไป.”—สุภา. 29:11

18. ความรักจะช่วยครอบครัวให้มีการสื่อความที่ดีได้อย่างไร?

18 ดังนั้น พ่อแม่และเด็กๆที่รักทั้งหลาย อย่าท้อใจถ้าการพูดคุยกันในครอบครัวของคุณยังไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็น. ขอให้พยายามต่อไป และทำตามคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าต่อๆไป. (3 โย. 4) ในโลกใหม่ เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และจะไม่มีปัญหาในการสื่อความกันอีกต่อไป. แต่ในตอนนี้ เราทุกคนทำอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องที่ทำให้นึกเสียใจในภายหลัง. ดังนั้น อย่ารีรอที่จะพูดขอโทษ. จงให้อภัยกันอย่างใจกว้าง. ขอให้ “กลมเกลียวกันด้วยความรัก.” (โกโล. 2:2) ความรักมีพลัง. ‘ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา. ความรักไม่โกรธง่าย ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ. ความรักยอมทนทุกสิ่ง เชื่อทุกสิ่ง หวังทุกสิ่ง อดทนทุกสิ่ง.’ (1 โค. 13:4-7) ถ้าคุณแสดงความรักอยู่เสมอ การสื่อความกันในครอบครัวของคุณก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ. นี่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขและทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญ.

^ วรรค 6 ชื่อสมมุติ.