ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำไมเราเข้าร่วมการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?

ทำไมเราเข้าร่วมการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?

“จงทำอย่างนี้เรื่อยไปเพื่อระลึกถึงเรา”—1 โค. 11:24

1, 2. พระเยซูทำอะไรในคืนวันที่ 14 เดือนไนซาน ค.ศ. 33? (ดูภาพแรก)

คืนวันที่ 14 เดือนไนซาน ค.ศ. 33 คืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง พระเยซูและเหล่าสาวกของท่านได้ฉลองปัศคาในกรุงเยรูซาเลมเพื่อระลึกถึงวิธีที่พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลให้ออกจากอียิปต์เมื่อ 1,500 ปีก่อนหน้านั้น คืนนั้นพระเยซูได้กินอาหารมื้อพิเศษกับสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนของท่าน และท่านสั่งให้สาวกทำแบบเดียวกันนี้ทุกปีเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของท่าน *มัด. 26:1, 2

2 หลังจากพระเยซูอธิษฐานเสร็จ ท่านส่งขนมปังที่ไม่ใส่เชื้อให้กับเหล่าสาวกแล้วพูดว่า “รับไปกินเถิด” จากนั้น ท่านก็อธิษฐานอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งแก้วที่มีเหล้าองุ่นให้พวกเขาแล้วพูดว่า “เจ้าทุกคนจงดื่มจากถ้วยนี้เถิด” (มัด. 26:26, 27) ขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้ในคืนนั้นมีความหมายพิเศษและเหล่าสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูได้เรียนรู้หลายสิ่งในคืนที่สำคัญนั้น

3. เราจะพิจารณาคำถามอะไรในบทความนี้?

 3 พระเยซูต้องการให้เหล่าสาวกระลึกถึงการเสียชีวิตของท่านปีละครั้ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า “การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือการประชุมอนุสรณ์ (1 โค. 11:20) แต่บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเราควรระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซู? ขนมปังและเหล้าองุ่นหมายถึงอะไร? เราจะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการประชุมอนุสรณ์ได้อย่างไร? ใครควรกินเครื่องหมาย? และคริสเตียนแต่ละคนจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาเห็นคุณค่าความหวังของเขา?

ทำไมเราควรระลึกถึงการเสียชีวิตของพระเยซู?

4. การสละชีวิตของพระเยซูทำให้เรามีโอกาสอะไร?

4 เนื่องจากอาดามทำบาป เราจึงได้รับบาปและความตายเป็นมรดก (โรม 5:12) ดังนั้น ไม่มีทางที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะสามารถจ่ายค่าไถ่แก่พระเจ้าเพื่อไถ่ชีวิตของตัวเองหรือคนอื่นได้ (เพลง. 49:6-9) แต่พระเยซูได้สละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของท่านเพื่อเราและเสนอคุณค่าของค่าไถ่นั้นแก่พระเจ้า โดยวิธีนี้ พระเยซูจึงทำให้เรามีโอกาสหลุดพ้นจากบาปและความตายแล้วมีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไป—โรม 6:23; 1 โค. 15:21, 22

5. (ก) เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าและพระเยซูรักเรา? (ข) ทำไมเราควรเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์?

5 การจัดเตรียมค่าไถ่เป็นการพิสูจน์ความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ทุกคน (โย. 3:16) และการสละชีวิตของพระเยซูก็เป็นการพิสูจน์ความรักของท่านที่มีต่อมนุษย์ทุกคนเหมือนกัน ซึ่งก่อนจะมาบนโลกนี้ พระเยซูก็รักและ “ปีติยินดีในมนุษย์ทั้งหลาย” (สุภา. 8:30, 31, ฉบับมาตรฐาน ) เมื่อเราเห็นคุณค่าสิ่งที่พระยะโฮวาและพระเยซูทำเพื่อเรามากจริง ๆ เราจึงทำตามคำสั่งของพระเยซูที่ว่า “จงทำอย่างนี้เรื่อยไปเพื่อระลึกถึงเรา” โดยที่เราเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์—1 โค. 11:23-25

ความหมายของขนมปังและเหล้าองุ่น

6. เราเข้าใจความหมายของขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้ในการประชุมอนุสรณ์อย่างไร?

6 ระหว่างที่กินอาหารมื้อสุดท้ายกับเหล่าสาวก พระเยซูไม่ได้ทำการอัศจรรย์โดยเปลี่ยนขนมปังให้เป็นร่างกายของท่าน หรือเปลี่ยนเหล้าองุ่นให้เป็นเลือดของท่าน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านบอกว่าขนมปัง “หมายถึง กายของเรา” และเหล้าองุ่น “หมายถึง โลหิตของเราซึ่งเป็น ‘โลหิตแห่งสัญญา’ ซึ่งจะต้องไหลออกเพื่อคนเป็นอันมาก” (มโก. 14:22-24) เห็นได้ชัดว่าขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เท่านั้น

7. ขนมปังไม่ใส่เชื้อหมายถึงอะไร?

7 ในคืนสำคัญนั้น พระเยซูใช้ขนมปังไม่ใส่เชื้อที่เหลือจากการฉลองปัศคา (เอ็ก. 12:8) บางครั้ง คัมภีร์ไบเบิลใช้เชื้อเป็นสัญลักษณ์หมายถึงบาป (มัด. 16:6, 11, 12; ลูกา 12:1) ดังนั้น ขนมปังไม่ใส่เชื้อ ที่พระเยซูใช้จึงหมายถึงร่างกายที่ไม่มีบาปของท่าน (ฮีบรู 7:26) นี่เป็นเหตุผลที่เราใช้ขนมปังไม่ใส่เชื้อในการประชุมอนุสรณ์

8. เหล้าองุ่นเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอะไร?

8 พระเยซูได้สละชีวิตโดยการหลั่งเลือดที่โกลโกทาบริเวณนอกกรุงเยรูซาเลม “เพื่อปลดเปลื้องบาป” (มัด. 26:28; 27:33) เช่นเดียวกับที่พระเยซูใช้เหล้าองุ่นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนเลือดหรือชีวิตของท่าน ในทุกวันนี้ เราก็ใช้เหล้าองุ่นในการประชุมอนุสรณ์เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเราเห็นความสำคัญของของขวัญล้ำค่านี้ เราจะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อจะเข้าร่วมโอกาสพิเศษนี้ทุกปี แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่พลาดโอกาสนั้น?

เราจะเตรียมตัวอย่างไร?

9. (ก) ทำไมเราควรอ่านพระคัมภีร์ตามตารางการอ่านในช่วงการประชุมอนุสรณ์? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรต่อค่าไถ่?

9 วิธีหนึ่งที่เราจะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการประชุม อนุสรณ์คือ อ่านพระคัมภีร์ตามตารางการอ่านในช่วงการประชุมอนุสรณ์ซึ่งอยู่ในหนังสือการพิจารณาพระคัมภีร์ทุกวัน การอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในพระคัมภีร์จะช่วยเราให้ทบทวนสิ่งที่พระเยซูได้ทำก่อนท่านเสียชีวิต * พี่น้องหญิงคนหนึ่งเขียนว่า “ฉันยังจำได้ในงานศพของพ่อ . . . ตอนที่ฉันมองศพพ่อที่ฉันรัก ตอนนั้นเองที่ฉันรู้ซึ้งถึงคุณค่าของค่าไถ่จากหัวใจ . . . ที่จริง ฉันก็รู้ว่ามีข้อพระคัมภีร์อะไรบ้างที่พูดถึงค่าไถ่และรู้วิธีอธิบายข้อเหล่านั้นด้วยซ้ำ! แต่เมื่อฉันได้สัมผัสถึงความจริงอันโหดร้ายของความตายด้วยตัวเอง ฉันก็ยิ่งเห็นคุณค่าของค่าไถ่เมื่อนึกถึงสิ่งที่ค่าไถ่จะทำให้เกิดขึ้น และนั่นทำให้หัวใจฉันตื่นเต้นยินดี ดังนั้น การประชุมอนุสรณ์จึงมีความหมายต่อฉันมากขึ้นทุก ๆ ปี และเป็นสิ่งที่พวกเราเฝ้ารอ” การคิดทบทวนถึงวิธีที่พระเยซูยอมสละชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่จะช่วยเราให้เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์

ใช้คู่มือต่าง ๆ ขององค์การเพื่อเตรียมหัวใจของคุณสำหรับการประชุมอนุสรณ์ (ดูข้อ 9)

10. มีวิธีอะไรอีกที่ช่วยเราให้เตรียมตัวสำหรับการประชุมอนุสรณ์?

10 อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเราเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการประชุมอนุสรณ์คือ ใช้เวลามากขึ้นในงานรับใช้และเชิญผู้คนมาร่วมการประชุมอนุสรณ์กับเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเราอาจสมัครเป็นไพโอเนียร์สมทบในช่วงนั้น เมื่อเราบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระเจ้า พระเยซู และความหวังเรื่องชีวิตตลอดไป เราจะมีความสุขที่ได้ทำสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ—เพลง. 148:12, 13

11. ทำไมเปาโลพูดว่ามีคริสเตียนบางคนกินและดื่มอย่างไม่เหมาะสมในการประชุมอนุสรณ์?

11 เมื่อเตรียมตัวสำหรับการประชุมอนุสรณ์ เราควรทบทวนสิ่งที่เปาโลได้เขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินท์ (อ่าน 1 โครินท์ 11:27-34) เขาบอกว่า ถ้าใครกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นอย่างไม่สมควรหรือด้วยการไม่นับถืออย่างยิ่ง เขาจะมีความผิดต่อ “พระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ดังนั้น ถ้าผู้ถูกเจิมคนใดประพฤติอย่างไม่เหมาะสมและกินเครื่องหมาย เขาก็ “กินและดื่มอย่างที่ทำให้ตนเองถูกตัดสินลงโทษ” ในสมัยของเปาโล มีคริสเตียนชาวโครินท์หลายคนที่ประพฤติไม่เหมาะสม เช่น บางคนกินและดื่มมากเกินไปทั้งก่อนหรือระหว่างการประชุมอนุสรณ์ซึ่งทำให้พวกเขาง่วงนอน การทำอย่างนั้นแสดงว่าพวกเขาไม่แสดงความนับถืออย่างยิ่ง ต่อโอกาสนั้น เมื่อพวกเขากินเครื่องหมาย พระเจ้าจึงไม่ยอมรับ

12. (ก) เปาโลเปรียบเทียบการประชุมอนุสรณ์กับอะไร และเขาให้คำเตือนอะไรแก่ผู้ที่จะกินเครื่องหมาย? (ข) คนที่กินเครื่องหมายควรทำอะไรถ้าเขาทำบาปร้ายแรง?

12 เปาโลเปรียบเทียบการประชุมอนุสรณ์กับการกินอาหาร เขาเตือนผู้ที่จะกินเครื่องหมายว่า “ท่านทั้งหลายจะดื่มจากถ้วยของพระยะโฮวาและจากถ้วยของพวกปิศาจด้วยไม่ได้ ท่านทั้งหลายจะกินจากโต๊ะของพระยะโฮวาและจากโต๊ะของพวกปิศาจด้วยไม่ได้” (1 โค. 10:16-21) ดังนั้น ถ้าคนที่กินเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์ได้ทำบาปร้ายแรง เขาต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลในประชาคม (อ่านยาโกโบ 5:14-16) และถ้าเขาพิสูจน์โดยการกระทำว่าเขาได้กลับใจอย่างแท้จริง นั่นแสดงว่าเขานับถือเครื่องบูชาของพระเยซูเมื่อกินเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์—ลูกา 3:8

13. ทำไมการอธิษฐานเกี่ยวกับความหวังที่พระเจ้าให้กับเราจึงเป็นประโยชน์?

13 เราสามารถเตรียมตัวสำหรับการประชุมอนุสรณ์โดยการอธิษฐานและคิดทบทวนเกี่ยวกับความหวังที่พระเจ้าให้เราเป็นส่วนตัว ไม่ว่าเรามีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนสวรรค์หรือบนโลก เราไม่อยากเป็นคนที่ไม่แสดงความนับถือต่อเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู ดังนั้น เราจะไม่กินเครื่องหมายถ้าเราไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเราเป็นผู้ถูกเจิมจริง ๆ หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นใครควรกินเครื่องหมาย?

ใครควรกินเครื่องหมาย?

14. เนื่องจากผู้ถูกเจิมมีส่วนในสัญญาใหม่ พวกเขาจะทำอะไรในการประชุมอนุสรณ์?

14 พระเยซูพูดถึงเหล้าองุ่นว่า “ถ้วยนี้หมายถึงสัญญาใหม่ ที่อาศัยโลหิตของเรา” (1 โค. 11:25) ดังนั้น คนที่กินเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์มั่นใจอย่างยิ่งว่าเขามีส่วนในสัญญาใหม่ ก่อนหน้านั้นพระยะโฮวาได้ทำสัญญาแห่งพระบัญญัติกับชาติอิสราเอล แต่ภายหลังพระองค์บอกว่าจะตั้งสัญญาใหม่แทนสัญญาแห่งพระบัญญัติ (อ่านยิระมะยา 31:31-34) พระเจ้าได้ทำสัญญาใหม่หรือข้อตกลงกับผู้ถูกเจิม (กลา. 6:15, 16) สัญญาใหม่นี้มีพระเยซูเป็นผู้กลางและการเสียชีวิตของท่านทำให้ข้อตกลงนี้เป็นไปได้ (ลูกา 22:20) ผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีส่วนในสัญญาใหม่จะอยู่กับท่านในสวรรค์—ฮีบรู 8:6; 9:15

15. ใครมีส่วนในสัญญาเรื่องราชอาณาจักร? และถ้าพวกเขาซื่อสัตย์พวกเขาจะได้รับสิทธิพิเศษอะไร?

15 ผู้ถูกเจิมรู้ว่าพวกเขามีส่วนในสัญญาเรื่องราชอาณาจักรด้วย (อ่านลูกา 12:32) สัญญานี้ทำระหว่างพระเยซูกับเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ซึ่งร่วม “ทนทุกข์เหมือนพระองค์” (ฟิลิป. 3:10) เหล่าผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ในทุกวันนี้ก็มีส่วนในสัญญานี้ด้วยเช่นเดียวกัน พวกเขาจะปกครองเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์ตลอดไป (วิ. 22:5) ดังนั้น พวกเขาจึงมีคุณสมบัติที่จะกินเครื่องหมายในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า

16. คุณจะอธิบายความหมายของโรม 8:15-17 อย่างไร?

16 ผู้ถูกเจิมมั่นใจอย่างยิ่งว่า พวกเขาเป็นลูกของพระเจ้า ดังนั้น พวกเขาจึงกินเครื่องหมาย (อ่านโรม 8:15-17) เปาโลบอกว่า พวกเขาเรียกพระเจ้าว่า “อับบา พระบิดา!” คำว่า “อับบา” ในภาษาอาระเมอิกให้ความหมายเหมือนทั้งคำว่า “พ่อ” ที่ลูกใช้เรียกด้วยความนับถือและคำว่า “ป่าป๊า” ที่เด็กใช้เรียกพ่อด้วยความรักซึ่งเป็นการพรรณนาความสัมพันธ์พิเศษที่ผู้ถูกเจิมมีต่อพระยะโฮวา เมื่อพวกเขาได้รับ “จิตใจอย่างผู้ที่ถูกรับเป็นบุตร” พระวิญญาณของพระเจ้า “เป็นพยานยืนยัน” ร่วมกับพวกเขา ดังนั้น พวกเขารู้อย่างไม่มีข้อสงสัยว่า “ได้รับการเจิมจากพระองค์ [พระยะโฮวา] ผู้บริสุทธิ์” ให้เป็นลูกของ พระองค์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลก เพราะพวกเขารู้ว่าถ้ารักษาความซื่อสัตย์จนเสียชีวิต พวกเขาจะได้เป็นกษัตริย์ร่วมกับพระเยซูในสวรรค์ ทุกวันนี้ ลูกของพระเจ้าซึ่งเป็นส่วนของผู้ถูกเจิม 144,000 คนที่ยังเหลืออยู่บนโลกมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (1 โย. 2:20; วิ. 14:1) พวกเขารู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับพระยะโฮวามากและเรียกพระองค์ว่า “อับบา พระบิดา!” เช่นเดียวกัน

เห็นคุณค่าความหวังของคุณที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

17. ผู้ถูกเจิมมีความหวังอะไร? และเขารู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นผู้ถูกเจิม?

17 ถ้าคุณเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิม คุณคงพูดถึงความหวังที่จะอยู่บนสวรรค์ในคำอธิษฐานบ่อย ๆ สำหรับคุณแล้วพระคัมภีร์หลายข้อคงมีความหมายมาก อย่างเช่น เมื่อพระคัมภีร์พูดถึงการสมรสในสวรรค์ระหว่างพระเยซูกับ “เจ้าสาว” ของท่าน คุณรู้ว่าข้อนี้หมายถึงตัวคุณเองและคุณก็เฝ้ารอวันนั้นอย่างใจจดใจจ่อ (โย. 3:27-29; 2 โค. 11:2; วิ. 21:2, 9-14) หรือเมื่อพระคัมภีร์อธิบายเกี่ยวกับความรักที่พระเจ้ามีต่อผู้ถูกเจิม คุณก็รู้ว่าพระองค์กำลังพูดกับคุณ เมื่อคุณอ่านคำสั่งและคำแนะนำต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ที่ให้กับผู้ถูกเจิมโดยเฉพาะ พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าก็จะกระตุ้นคุณให้เชื่อฟัง และพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะ “เป็นพยานยืนยัน” กับคุณว่าความหวังของคุณคือได้ไปสวรรค์

18. “แกะอื่น” มีความหวังอะไร? และคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความหวังนี้?

18 ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งใน “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” พระเจ้าให้คุณมีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนโลกที่เป็นอุทยาน (วิ. 7:9; โย. 10:16) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับอุทยานในอนาคต? คุณคงตื่นเต้นเมื่อได้ทบทวนสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงเรื่องนี้ คุณคงตั้งตารอที่จะได้อยู่ร่วมกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ในโลกที่มีแต่ความสงบสุข คุณคงอยากจะเห็นจุดจบของความหิวโหย ความยากจน ความทุกข์ ความเจ็บป่วย และความตาย (เพลง. 37:10, 11, 29; 67:6; 72:7, 16; ยซา. 33:24) นอกจากนั้น คุณคงแทบอดใจไม่ไหวที่จะได้เจอกับคนที่คุณรักอีกครั้งเมื่อพวกเขาฟื้นขึ้นจากตาย (โย. 5:28, 29) คุณคงรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาจริง ๆ สำหรับความหวังอันยอดเยี่ยมนี้! แม้ว่าคุณจะไม่ได้กินเครื่องหมายในการประชุมอนุสรณ์แต่คุณเข้าร่วมเพราะคุณเห็นว่าเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูมีค่ามาก

คุณจะเข้าร่วมไหม?

19, 20. (ก) คุณจะมีชีวิตตลอดไปได้อย่างไร? (ข) ทำไมคุณควรเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์?

19 คุณจะมีชีวิตตลอดไปไม่ว่าจะในสวรรค์หรือบนโลกถ้าคุณแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาพระเจ้า พระเยซูคริสต์ และค่าไถ่ ดังนั้น เมื่อคุณเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ ขอให้คิดทบทวนถึงความหวังของคุณและคิดทบทวนว่าการเสียชีวิตของพระเยซูมีความสำคัญมากขนาดไหน ในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2015 หลังดวงอาทิตย์ตก หลายล้านคนตลอดทั่วโลกจะเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ที่หอประชุมราชอาณาจักรของพยานพระยะโฮวาและในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง

20 การที่เราเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์จะช่วยเราให้รู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งต่อเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู และเมื่อคุณตั้งใจฟังคำบรรยายอนุสรณ์ คุณก็จะถูกกระตุ้นให้แสดงความรักต่อคนอื่น ๆ โดยบอกพวกเขาเกี่ยวกับความรักของพระยะโฮวาและความต้องการของพระองค์ที่มีต่อเราทุกคน (มัด. 22:34-40) ดังนั้น ขอให้คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์

^ วรรค 1 ชาวฮีบรูเริ่มนับวันใหม่หลังจากดวงอาทิตย์ตก

^ วรรค 9 ดูคู่มือค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิล ตอน 16