พิธีศีลมหาสนิท—ข้อเท็จจริงเบื้องหลังพิธีนี้
พิธีศีลมหาสนิท—ข้อเท็จจริงเบื้องหลังพิธีนี้
มีคนทั่วโลกเข้าร่วมพิธีนี้เป็นประจำ ไม่ว่าจะปีละหลายครั้ง, สัปดาห์ละครั้ง, หรือกระทั่งทุกวันด้วยซ้ำ. แต่พิธีนี้ก็ยังถูกเรียกว่าความลึกลับแห่งศรัทธา และหลายคนที่เข้าร่วมพิธีนี้ยอมรับว่าไม่เข้าใจพิธีดังกล่าว. พิธีนี้ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นการอัศจรรย์ด้วยซ้ำ.
พิธีนี้คือพิธีศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิสซาของคาทอลิกขณะที่บาทหลวงกล่าวขอพรสำหรับขนมปังและเหล้าองุ่น และผู้มาประชุมจะได้รับเชิญให้รับศีลมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์เพื่อรับพระคริสต์เข้าสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. * โปปเบเนดิกต์ที่ 16 กล่าวไว้ว่า สำหรับชาวคาทอลิก พิธีนี้เป็น “จุดสูงสุดและศูนย์รวมของความเชื่อ.” ไม่นานมานี้ คริสตจักรคาทอลิกได้ฉลอง “ปีแห่งพิธีศีลมหาสนิท” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะ “ฟื้นฟูและเพิ่มพูนศรัทธาที่มีต่อพิธีศีลมหาสนิท.”
แม้แต่ชาวคาทอลิกที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับความเชื่อของตนก็ยังศรัทธาในพิธีนี้อย่างแรงกล้า. ตัวอย่างเช่น ในวารสารไทม์ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งในบทความบอกว่าเป็นคาทอลิกหัวก้าวหน้าและอายุน้อยได้เขียนว่า “ไม่ว่าเราจะมีความเห็นขัดแย้งอย่างไรกับคำสอนของศาสนจักรคาทอลิก เราก็ยังยึดมั่นกับสิ่งที่ผูกพันเราให้เป็นหนึ่งเดียวในความเชื่อของคาทอลิก คือความเลื่อมใสในการฉลองพิธีศีลมหาสนิท.”
แต่พิธีศีลมหาสนิทคืออะไร? เหล่าผู้ติดตามพระคริสต์จะต้องทำพิธีนี้ไหม? ก่อนอื่นให้เราดูว่าธรรมเนียมการฉลองพิธีศีลมหาสนิทมีความเป็นมาอย่างไร. จากนั้น เราจึงจะพิจารณาคำถามที่สำคัญกว่าได้ นั่นคือ: พิธีศีลมหาสนิทเป็นพิธีที่สืบทอดมาจากการฉลองที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อนจริง ๆ ไหม?
พิธีศีลมหาสนิทและคริสต์ศาสนจักร
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดพิธีศีลมหาสนิทจึงถือกันว่าเป็นการอัศจรรย์. ช่วงเวลาสำคัญของพิธีนี้คือระหว่างการสวดขอบพระคุณ. คู่มือถามตอบของคริสตจักรคาทอลิก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ขณะที่มีการสวด “พลังแห่งคำตรัสและการกระทำของพระคริสต์ และพลังแห่งพระจิต” จะทำให้พระกายและพระโลหิตของพระเยซู “มาอยู่ในพิธี.” หลังจากบาทหลวงรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นแล้วก็เชิญสัตบุรุษให้รับศีลมหาสนิทด้วย ซึ่งมักจะเป็นการรับประทานเพียงขนมปังหรือแผ่นปัง.
คริสตจักรคาทอลิกสอนว่าขนมปังและเหล้าองุ่นจะเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตจริง ๆ ของพระคริสต์โดยอัศจรรย์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เรียกว่าการแปรสาร. คำสอนนี้ค่อย ๆ เกิดขึ้นและคำที่ใช้เรียกคำสอนนี้มีการนิยามและใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในศตวรรษที่ 13. ในช่วงการปฏิรูปศาสนาโปรเตสแตนต์ มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับบางแง่มุมของพิธีศีลมหาสนิทแบบคาทอลิก. ลูเทอร์ปฏิเสธหลักคำสอนเรื่องการแปรสารโดยสนับสนุนความเชื่อเรื่องการอยู่ร่วมของสาร. คำสอนทั้งสองแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย. ลูเทอร์สอนว่า ขนมปังและเหล้าองุ่นอยู่ในสภาพเดิมและขณะเดียวกันก็เป็นพระมังสะและพระโลหิตของพระเยซู ไม่ได้แปรไปเป็นพระมังสะและพระโลหิตของพระเยซู.
เมื่อเวลาผ่านไป นิกายต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักรก็เริ่มสอนแตกต่างกันมากขึ้นในเรื่องความหมายของพิธีศีลมหาสนิท รวมถึงวิธีการและความถี่ในการฉลองพิธีนี้. อย่างไรก็ดี พิธีนี้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในคริสต์ศาสนจักร. แต่การฉลองที่พระเยซูทรงตั้งขึ้นในครั้งแรกมีลักษณะอย่างไร?
การตั้ง “อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
พระเยซูเองทรงเป็นผู้ตั้งการฉลอง “อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. (1 โครินท์ 11:20, 24) แต่การฉลองที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเป็นพิธีกรรมลึกลับที่ให้ผู้ติดตามพระองค์รับประทานพระกายและดื่มพระโลหิตของพระองค์จริง ๆ ไหม?
พระเยซูเพิ่งทรงฉลองปัศคาของชาวยิวเสร็จและทรงให้ยูดาอิสการิโอต อัครสาวกซึ่งกำลังจะทรยศพระองค์ออกไป. มัดธาย อัครสาวกคนหนึ่งใน 11 คนที่ร่วมในเหตุการณ์รายงานว่า “ขณะที่รับประทานกันอยู่นั้น พระเยซูทรงหยิบขนมปังมาแผ่นหนึ่งแล้วทูลขอพรและทรงหักส่งให้เหล่าสาวกแล้วตรัสว่า ‘รับไปกินเถิด. นี่หมายถึงกายของเรา.’ แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วยขึ้นมาทูลขอบพระคุณและส่งให้พวกเขาแล้วตรัสว่า ‘เจ้าทุกคนจงดื่มจากถ้วยนี้เถิด เพราะนี่หมายถึงโลหิตของเราซึ่งเป็น “โลหิตแห่งสัญญา” ซึ่งจะต้องไหลออกเพื่อปลดเปลื้องบาปของคนเป็นอันมาก.’ ”—มัดธาย 26:26-28.
สำหรับพระเยซูและผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคน การขอพรสำหรับอาหารเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว. (พระบัญญัติ 8:10; มัดธาย 6:11; 14:19; 15:36; มาระโก 6:41; 8:6; โยฮัน 6:11, 23; กิจการ 27:35; โรม 14:6) มีเหตุผลใดไหมที่จะเชื่อว่าโดยการอธิษฐานขอบพระคุณ พระเยซูทรงกำลังทำการอัศจรรย์ด้วย ซึ่งทำให้ผู้ติดตามพระองค์ได้รับประทานพระมังสะและพระโลหิตจริง ๆ ของพระองค์?
“นี่หมายถึง” หรือ “นี่เป็น”?
จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำตรัสของพระเยซูดังนี้: “เอาไปรับประทานเถิด นี่เป็นกายของเรา” และ “พวกท่านทุกคนดื่มเถิด นี่เป็น โลหิตของเรา.” (มัดธาย 26:26-28, ฉบับประชานิยม) เป็นความจริงด้วยที่ว่า คำภาษากรีกเอสทิน ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของคำกริยา “เป็น, อยู่, คือ” ในภาษากรีก มีความหมายพื้นฐานว่า “เป็น.” แต่คำกริยาเดียวกันนี้อาจมีความหมายว่า “หมายถึง” ได้ด้วย. น่าสนใจที่บ่อยครั้งคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลคำกริยานี้ว่า “แปลว่า” หรือ “หมายถึง.” * บริบทจะเป็นตัวตัดสินว่าคำแปลใดตรงความหมายที่สุด. ตัวอย่างเช่น ที่มัดธาย 12:7 คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลคำ เอสทิน ว่า “หมายความว่า” เช่น “ตามข้อพระธรรมที่ว่า เราต้องการความเมตตากรุณา ไม่ใช่ต้องการสัตว์เป็นเครื่องบูชา ถ้าท่านทราบจริง ๆ ว่าข้อนั้นหมายความว่า [ภาษากรีก เอสทิน] กระไรแล้ว ท่านย่อมไม่ประณามบุคคลผู้ไร้ความผิดเลย.”—ฉบับประชานิยม.
ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับความนับถือหลายคนเห็นพ้องกันว่าคำว่า “เป็น” ไม่ได้ถ่ายทอดความคิดของพระเยซูในข้อนี้อย่างถูกต้อง. ตัวอย่างเช่น ชาก ดูปองต์ ได้พิจารณาวัฒนธรรมและสังคมที่พระเยซูทรงอาศัยอยู่แล้วจึงสรุปว่า คำแปลที่ “เป็นธรรมชาติมากที่สุด” ของข้อคัมภีร์นี้น่าจะเป็น: “นี่หมายถึงกายของเรา” หรือ “นี่เป็นเครื่องหมายแทนกายของเรา.”
เยเนซิศ 9:3, 4) มีการกล่าวย้ำคำสั่งห้ามนี้อีกครั้งในพระบัญญัติของโมเซ ซึ่งพระเยซูเองก็ทรงปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน. (พระบัญญัติ 12:23; 1 เปโตร 2:22) และพวกอัครสาวกก็ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้แถลงคำสั่งห้ามรับประทานเลือดนี้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้บัญญัติข้อนี้มีผลบังคับกับคริสเตียนทุกคน. (กิจการ 15:20, 29) พระเยซูจะทรงตั้งการฉลองที่ทำให้ผู้ติดตามพระองค์ละเมิดกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งไหม? เป็นไปไม่ได้เลย!
ไม่ว่าจะอย่างไร พระเยซูไม่มีทางที่จะหมายความว่าผู้ติดตามพระองค์ต้องรับประทานเนื้อและดื่มโลหิตของพระองค์จริง ๆ. เพราะเหตุใด? หลังจากน้ำท่วมโลกในสมัยโนฮา เมื่อพระเจ้าทรงอนุญาตให้มนุษย์กินเนื้อสัตว์ได้ พระองค์ตรัสห้ามโดยตรงว่าไม่ให้มนุษย์รับประทานเลือด. (ดังนั้น เห็นชัดว่า พระเยซูทรงใช้ขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นสัญลักษณ์. ขนมปังไม่ใส่เชื้อหมายถึง หรือเป็นเครื่องหมายแทนพระกายที่ปราศจากบาปของพระองค์ซึ่งจะถูกถวายเป็นค่าไถ่. เหล้าองุ่นแดงหมายถึงพระโลหิตของพระองค์ซึ่งจะต้องไหลออก “เพื่อปลดเปลื้องบาปของคนเป็นอันมาก.”—มัดธาย 26:28.
วัตถุประสงค์ของการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า
พระเยซูทรงกล่าวในตอนท้ายการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าครั้งแรกว่า “จงทำอย่างนี้เรื่อยไปเพื่อระลึกถึงเรา.” (ลูกา 22:19) การฉลองนี้ช่วยเราอย่างแท้จริงให้ระลึกถึงพระเยซูและสิ่งต่าง ๆ อันยอดเยี่ยมซึ่งสำเร็จเป็นจริงได้ด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. การฉลองนี้เตือนใจเราให้ระลึกว่าพระเยซูทรงเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา พระบิดาของพระองค์. การ ฉลองนี้ยังเตือนเราด้วยว่าโดยการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูในสภาพมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปราศจากบาป พระองค์ได้ทรงสละ “ชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก.” ค่าไถ่นี้ทำให้เป็นไปได้ที่ใครก็ตามซึ่งแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระองค์จะได้รับการปลดเปลื้องจากบาปและได้ชีวิตนิรันดร์.—มัดธาย 20:28.
อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้ว อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็คือมื้ออาหารสมานไมตรี. ผู้ที่ร่วมในมื้ออาหารนี้คือ (1) พระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ทรงจัดเตรียมค่าไถ่ (2) พระเยซูคริสต์ “พระเมษโปดกของพระเจ้า” ผู้ทรงเป็นค่าไถ่ และ (3) พี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระเยซู. โดยการร่วมรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่น คนกลุ่มที่สามนี้ได้แสดงว่าพวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์อย่างแน่นแฟ้น. (โยฮัน 1:29; 1 โครินท์ 10:16, 17) นอกจากนี้พวกเขายังแสดงด้วยว่าพวกเขาอยู่ใน “สัญญาใหม่” ฐานะสาวกของพระเยซูที่ได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณ. คนเหล่านี้คือผู้ที่จะปกครองเป็นกษัตริย์และปุโรหิตร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์.—ลูกา 22:20; โยฮัน 14:2, 3; วิวรณ์ 5:9, 10.
ควรจัดการประชุมเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเมื่อไร? เราเห็นคำตอบชัดขึ้นเมื่อคิดถึงว่าพระเยซูทรงเลือกที่จะตั้งการฉลองนี้ในวันหนึ่งโดยเฉพาะ คือในวันปัศคา. เป็นเวลานานกว่า 1,500 ปีที่ประชาชนของพระเจ้าเคยฉลองปัศคากันในวันที่ 14 เดือนไนซานของทุกปีตามปฏิทินของพวกเขาเพื่อระลึกถึงการช่วยให้รอดครั้งสำคัญซึ่งพระยะโฮวาทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์. เห็นได้ชัดว่า พระเยซูทรงกำลังชี้แนะให้ผู้ที่ติดตามพระองค์ใช้วันเดียวกันนี้เพื่อระลึกถึงการช่วยให้รอดที่ยิ่งใหญ่กว่ามากนักซึ่งพระเจ้าจะทรงทำให้เป็นไปได้โดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์. ด้วยเหตุนี้ สาวกแท้ของพระเยซูจึงเข้าร่วมการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าทุกปีเมื่อถึงวันซึ่งตรงกับวันที่ 14 เดือนไนซานตามปฏิทินฮีบรู.
พวกเขาทำเช่นนั้นเพราะชื่นชอบในเรื่องพิธีกรรมอย่างนั้นไหม? กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ความชื่นชอบเช่นนั้นคือเหตุจูงใจให้ผู้คนมากมายเข้าร่วมพิธีศีลมหาสนิท. ผู้เขียนบทความในวารสารไทม์ ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “มีบางอย่างที่ทำให้จิตใจสงบอย่างล้ำลึกเมื่อได้เข้าร่วมพิธีเก่าแก่ซึ่งมีผู้ถือปฏิบัติกันมากมาย.” เช่นเดียวกับชาวคาทอลิกจำนวนมากในทุกวันนี้ ผู้เขียนคนนี้อยากให้มีการประกอบพิธีศีลมหาสนิทในภาษาละตินเหมือนในอดีตมากกว่า. ทำไมน่ะหรือ? เธอเขียนว่า “ฉันอยากได้ยินคำสวดมิสซาในภาษาที่ฉันไม่เข้าใจ เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่ฉันไม่ชอบสิ่งที่ได้ยินในภาษาอังกฤษ.”
พยานพระยะโฮวา รวมทั้งผู้สนใจหลายล้านคนมีความยินดีที่ได้ฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในภาษาของตนเอง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน. พวกเขาดีใจที่ได้รับความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความหมายและคุณค่าของการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์. ความจริงเหล่านี้ควรค่าแก่การใคร่ครวญและพิจารณากันตลอดทั้งปี. พยานฯพบว่าการประชุมเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้จดจำความรักอันลึกซึ้งของพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์. การประชุมนี้ช่วยพวกเขาให้ “ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา.”—1 โครินท์ 11:26.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 พิธีนี้เรียกกันด้วยว่าอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า, พิธีบิปัง, พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์, พิธีขอบพระคุณ, และพิธีบูชามิสซา.
^ วรรค 15 โปรดดูมัดธาย 27:46; ลูกา 8:11 ในฉบับแปล 2002.
[คำโปรยหน้า 27]
การฉลองที่พระเยซูทรงตั้งขึ้นในครั้งแรกมีลักษณะเช่นไร?
[ภาพหน้า 28]
พระเยซูทรงตั้งการประชุมเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
[ภาพหน้า 29]
การประชุมเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์