คุณรู้ไหม?
คุณรู้ไหม?
ทำไมผู้คนจึงกล่าวว่า “อาเมน” เมื่อจบคำอธิษฐาน?
คำว่า “อาเมน” ในภาษากรีกเป็นคำที่ทับศัพท์มาจากภาษาฮีบรู. ผู้คนมักกล่าวคำนี้พร้อม ๆ กันหลังจากที่ได้ยินคำอธิษฐาน, คำสาบาน, คำอวยพรหรือคำสาปแช่ง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมีความหมายว่า “ขอให้เป็นอย่างนั้น” หรือ “แน่นอน.” การกล่าวคำนี้บ่งชี้ว่าผู้ที่กล่าวเห็นพ้องกับความคิดและความรู้สึกที่มีการแสดงออกมาในคำอธิษฐานนั้น. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “คำนี้บ่งชี้ถึงความแน่นอน, ถูกต้องเป็นจริง, ซื่อสัตย์, และปราศจากข้อสงสัย.” นอกจากนั้น ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ผู้ที่กล่าวคำนี้เมื่อปฏิญาณหรือทำสัญญาถือว่ามีพันธะตามกฎหมายที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กล่าวไปรวมทั้งผลที่จะตามมาด้วย.—พระบัญญัติ 27:15-26
เมื่อพระเยซูทรงประกาศสั่งสอน บางครั้งพระองค์ทรงขึ้นต้นคำตรัสของพระองค์ด้วยคำว่า “อาเมน.” โดยตรัสเช่นนี้ พระองค์ทรงเน้นว่าสิ่งที่พระองค์กำลังจะตรัสนั้นเชื่อถือได้อย่างแท้จริง. ในกรณีเช่นนี้ คำภาษากรีก อาเมน ได้รับการแปลว่า “ตามจริง” หรือ “ความจริง.” (มัดธาย 5:18; 6:2, 5, ฉบับแปลคิงเจมส์) ในกิตติคุณของโยฮันตลอดทั้งเล่มพระเยซูทรงใช้คำว่า “อาเมน” ซ้ำสองครั้ง ซึ่งเป็นการเน้นความถูกต้องเป็นจริงและน่าเชื่อถือของสิ่งที่พระองค์ตรัสมากยิ่งขึ้นอีก. กล่าวกันว่าการใช้คำว่าอาเมนในลักษณะเดียวกับที่พระเยซูทรงใช้นี้ไม่มีอยู่ในข้อเขียนศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เลย.
ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีการเรียกพระเยซูว่า “อาเมน” เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพยานที่ “ซื่อสัตย์และสัตย์จริง.”—วิวรณ์ 3:14
อูริมกับทูมิมคืออะไร?
ดูเหมือนว่ามีการใช้อูริมและทูมิมในอิสราเอลโบราณเพื่อจะทราบพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชาติอิสราเอลหรือผู้นำของพวกเขา. ปุโรหิตใหญ่เป็นผู้ที่เก็บรักษาสองสิ่งนี้และเขาจะเก็บไว้ในช่องกระเป๋าของ “ทับทรวงสำหรับแต่งออกพิพากษา.” (เอ็กโซโด 28:15, 16, 30) ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์ไม่เคยอธิบายลักษณะของอูริมและทูมิมหรือบอกวิธีใช้ที่ชัดเจน แต่ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่ามีการใช้ของสองสิ่งนี้เหมือนเป็นสลาก เพื่อจะได้คำตอบจากพระเจ้าว่า “ใช่,” “ไม่” หรือไม่มีคำตอบใด ๆ เลย.
ตัวอย่างหนึ่งของการใช้อูริมและทูมิมคือตอนที่ดาวิดได้ให้อะบีอาธารนำของสิ่งหนึ่งมาให้ท่าน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นทับทรวงของปุโรหิตใหญ่ที่มีอูริมและทูมิมอยู่ข้างใน. ดาวิดทูลถามพระยะโฮวาสองข้อว่า ‘ซาอูลจะไล่ตามข้าพเจ้าหรือไม่?’ และ ‘ชาวคะอีลาเจ้าของแผ่นดินนี้จะมอบข้าพเจ้าไว้ในมือซาอูลหรือไม่?’ คำถามทั้งสองข้อได้รับคำตอบว่าใช่ ดาวิดจึงตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง.—1 ซามูเอล 23:6-12
ก่อนหน้านั้น กษัตริย์ซาอูลได้ใช้อูริมและทูมิมเพื่อจะรู้คำตอบสำหรับข้อสงสัยสองประการคือ หนึ่ง ความผิดตกอยู่กับประชาชนหรือตกอยู่กับตัวท่านและโยนาธาน และสอง ผู้ที่ทำผิดคือตัวท่านหรือโยนาธาน. (1 ซามูเอล 14:40-42) ต่อมาภายหลัง เมื่อซาอูลสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้าแล้ว พระองค์ก็ไม่ทรงชี้นำท่านอีกต่อไป “ไม่ว่าด้วยความฝันหรือด้วยอูริมหรือด้วยผู้เผยพระวจนะ.”—1 ซามูเอล 28:6, ฉบับ R73.
ตามคำสอนสืบปากของชาวยิว การใช้อูริมและทูมิมได้สิ้นสุดลงเมื่อพระวิหารของพระยะโฮวาถูกทำลายในปี 607 ก่อนสากลศักราช.
[ภาพหน้า 27]
“อาเมน” วิวรณ์ 3:14. เดอะโคเดกซ์อะเล็กซานดรินุส ศตวรรษที่ 5 สากลศักราช