ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผู้จัดพิมพ์ในยุคแรกส่งเสริมการอ่านคัมภีร์ไบเบิล

ผู้จัดพิมพ์ในยุคแรกส่งเสริมการอ่านคัมภีร์ไบเบิล

ผู้​จัด​พิมพ์​ใน​ยุค​แรก​ส่ง​เสริม​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล

หนังสือ​และ​ม้วน​หนังสือ​ที่​เขียน​ด้วย​มือ​มี​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​ที่​ยาว​นาน​หลาย​พัน​ปี. แต่​ประวัติ​ของ​หนังสือ​ที่​พิมพ์​ขึ้น​ไม่​เก่า​แก่​ขนาด​นั้น. กล่าว​กัน​ว่า​มี​การ​พิมพ์​หนังสือ​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​ประเทศ​จีน​ใน​ปี​สากล​ศักราช 868 โดย​ใช้​บล็อก​พิมพ์​ตัว​อักษร​ที่​แกะ​จาก​ไม้. ประมาณ​ปี 1455 ที่​เยอรมนี โยฮันเนส กูเทนแบร์ก​ได้​คิด​ค้น​วิธี​การ​พิมพ์​แบบ​ที่​ใช้​ตัว​พิมพ์​โลหะ​มา​เรียง​กัน​และ​ได้​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​ฉบับ​แรก​โดย​ใช้​วิธี​นี้.

ไม่​กี่​ปี​ต่อ​มา​เมื่อ​การ​พิมพ์​หนังสือ​กลาย​เป็น​อุตสาหกรรม​ก็​ได้​มี​การ​จำหน่าย​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​หนังสือ​อื่น ๆ เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​มาก. เมือง​นือเรมแบร์ก​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​อุตสาหกรรม​การ​พิมพ์​แห่ง​หนึ่ง​ใน​เยอรมนี และ​อันโทน โคเบอร์เกอร์ ชาว​เมือง​นือเรมแบร์ก​อาจ​เป็น​ช่าง​พิมพ์​และ​ผู้​จัด​พิมพ์​คน​แรก​ที่​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​จำนวน​มาก​และ​ส่ง​ไป​จำหน่าย​ยัง​ประเทศ​ต่าง ๆ.

ผู้​คน​ทุก​วัฒนธรรม​ต่าง​เป็น​หนี้​บุญคุณ​ผู้​จัด​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ยุค​แรก​ซึ่ง​รวม​ถึง​อันโทน โคเบอร์เกอร์. ดัง​นั้น ให้​เรา​มา​รู้​จัก​โคเบอร์เกอร์​และ​งาน​ของ​เขา​ให้​มาก​ขึ้น.

“ความ​ใส่​ใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล”

โคเบอร์เกอร์​ตั้ง​โรง​พิมพ์​แห่ง​แรก​ของ​เมือง​นือเรมแบร์ก​ขึ้น​ใน​ปี 1470. ใน​ช่วง​ที่​กิจการ​รุ่งเรือง​ที่​สุด บริษัท​ของ​เขา​ได้​เปิด​ใช้​เครื่อง​พิมพ์ 24 เครื่อง​พร้อม ๆ กัน โดย​จ้าง​ช่าง​พิมพ์, ช่าง​ศิลป์, และ​คน​งาน​อื่น ๆ รวม 100 คน​ใน​บาเซิล, สตราสบูร์ก, ลียง, และ​เมือง​อื่น ๆ ใน​ยุโรป. โคเบอร์เกอร์​พิมพ์​หนังสือ​ภาษา​ละติน​ของ​ยุค​กลาง​และ​เป็น​ผู้​พิมพ์​หนังสือ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ราย​ใหญ่​ใน​สมัย​นั้น. ตลอด​เวลา​ที่​ทำ​อาชีพ​นี้ เขา​ได้​พิมพ์​งาน​เขียน​ต่าง ๆ 236 ชิ้น. บาง​ชิ้น​มี​หลาย​ร้อย​หน้า และ​แต่​ละ​หน้า​พิมพ์​ด้วย​เครื่อง​พิมพ์​ที่​ควบคุม​ด้วย​มือ.

เนื่อง​จาก​แบบ​ตัว​พิมพ์​ของ​โคเบอร์เกอร์​มี​คุณภาพ​ดี หนังสือ​ของ​เขา​จึง​ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​ความ​สวย​งาม​และ​อ่าน​ง่าย. นัก​ประวัติศาสตร์​อัลเฟรด เบอร์เคิล เขียน​ว่า “โคเบอร์เกอร์​จะ​ใช้​แต่​ตัว​พิมพ์​ที่​ทำ​ขึ้น​ใหม่​และ​มี​ขอบ​คม​ชัด​เสมอ. เขา​ไม่​ยอม​ให้​ใช้​แม่​พิมพ์​ตัว​อักษร​ที่​สึก​แล้ว.” นอก​จาก​นี้ หนังสือ​และ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​โคเบอร์เกอร์​หลาย​เล่ม​ยัง​มี​ภาพ​ประกอบ​ซึ่ง​พิมพ์​ด้วย​บล็อก​ไม้​ที่​ประณีต​สวย​งาม.

ออสคาร์ ฮาเซ​ผู้​เขียน​ชีวประวัติ​ของ​โคเบอร์เกอร์​ได้​เขียน​ว่า ตั้ง​แต่​ต้น​จน​สิ้น​สุด​งาน​อาชีพ​ของ​เขา “สิ่ง​ที่​เห็น​ได้​ตลอด​คือ​ความ​ใส่​ใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.” โคเบอร์เกอร์​และ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​เขา​พยายาม​อย่าง​มาก​เพื่อ​จะ​หา​ต้น​ฉบับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ถูก​ต้อง​ที่​สุด​เท่า​ที่​หา​ได้​ใน​เวลา​นั้น. นั่น​คง​ไม่​ใช่​งาน​ง่าย​เพราะ​สำเนา​พระ​คัมภีร์​หลาย​ฉบับ​เป็น​สมบัติ​ล้ำ​ค่า​ที่​อาราม​ต่าง ๆ หวง​แหน​ยิ่ง​นัก​และ​หาก​จะ​อนุญาต​ให้​ยืม​มา​ทำ​สำเนา​ได้​ก็​เพียง​ช่วง​สั้น ๆ เท่า​นั้น.

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​และ​เยอรมัน

โคเบอร์เกอร์​ได้​พิมพ์​บิบลิอา ลาตินา (คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน) ถึง 15 รอบ โดย​พิมพ์​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1475. บาง​รอบ​มี​ภาพ​เรือ​โนอาห์, บัญญัติ​สิบ​ประการ, และ​วิหาร​ของ​โซโลมอน​ด้วย. ใน​ปี 1483 โคเบอร์เกอร์​ได้​พิมพ์​บิบลิอา เกอร์มานิคา (คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน) โดย​พิมพ์​ครั้ง​ละ​ประมาณ 1,500 เล่ม ซึ่ง​ใน​สมัย​นั้น​นับ​ว่า​มาก​ที​เดียว. คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​มี​ภาพ​ประกอบ​ที่​พิมพ์​ด้วย​บล็อก​ไม้​มาก​กว่า 100 ภาพ​ซึ่ง​กระตุ้น​ความ​สนใจ​ของ​ผู้​อ่าน, ทำ​ให้​เข้าใจ​เนื้อ​เรื่อง​ได้​ชัดเจน​ขึ้น, และ​ช่วย​ให้​คน​ที่​อ่าน​หนังสือ​ไม่​ออก​นึก​ถึง​เรื่อง​ราว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​พวก​เขา​คุ้น​เคย. ภาพ​ประกอบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​นี้​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​ให้​กับ​นัก​เขียน​ภาพ​ประกอบ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ยุค​ต่อ ๆ มา โดย​เฉพาะ​สำหรับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน.

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน​ของ​โคเบอร์เกอร์​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 1483 ได้​รับ​ความ​นิยม​อย่าง​มาก แต่​กลาย​เป็น​ว่า​นี่​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน​ฉบับ​เดียว​ที่​โคเบอร์เกอร์​มี​โอกาส​ได้​พิมพ์. ถึง​แม้​บรรดา​บรรณาธิการ​ของ​เขา​จะ​พยายาม​ปรับ​เปลี่ยน​แก้ไข​ข้อ​ความ​อย่าง​ระมัดระวัง​แล้ว​เพื่อ​ให้​สอดคล้อง​กับ​ฉบับ​วัลเกต ภาษา​ละติน​ซึ่ง​คริสตจักร​อนุญาต​ให้​ใช้ แต่​พระ​คัมภีร์​ที่​โคเบอร์เกอร์​ใช้​เป็น​หลัก​ใน​การ​ทำ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน​ฉบับ​นี้​คือ​ฉบับ​แปล​วัลเดนส์​จาก​ศตวรรษ​ที่ 14 ซึ่ง​เป็น​ฉบับ​หนึ่ง​ที่​คริสตจักร​ไม่​อนุญาต​ให้​ใช้. * ใน​ปี​ถัด​มา โปป​อินโนเซนต์​ที่ 8 ได้​สั่ง​ให้​ทำลาย​ชุมชน​ทั้ง​หลาย​ของ​ชาว​วัลเดนส์. ตั้ง​แต่​นั้น​มา คริสตจักร​ก็​ต่อ​ต้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ท้องถิ่น​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. วัน​ที่ 22 มีนาคม 1485 อาร์ชบิชอป​เบอร์โทลด์​แห่ง​ไมนซ์​ใน​เยอรมนี​ได้​ออก​กฤษฎีกา​ประณาม​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​เยอรมัน. วัน​ที่ 4 มกราคม​ปี​ถัด​มา เบอร์โทลด์​ก็​ประกาศ​ใช้​กฤษฎีกา​นั้น​ซ้ำ​อีก​ครั้ง. เนื่อง​จาก​สถานการณ์​ที่​เป็น​อันตราย​เช่น​นี้ โคเบอร์เกอร์​จึง​ไม่​กล้า​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน​อีก​เลย.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม งาน​หนัก​ที่​อันโทน โคเบอร์เกอร์​ทำ​นั้น​ไม่​ไร้​ประโยชน์. เขา​เป็น​ผู้​บุกเบิก​การ​ใช้​ศิลปะ​การ​พิมพ์​ที่​คิด​ค้น​ขึ้น​ใหม่​ซึ่ง​ช่วย​ให้​ผู้​คน​ใน​ยุโรป​สามารถ​หา​ซื้อ​หนังสือ​หลาย​ชนิด​ได้​ง่าย​ขึ้น​ใน​ราคา​ที่​ถูก​ลง. งาน​ของ​โคเบอร์เกอร์​จึง​ช่วย​ให้​สามัญ​ชน​มี​โอกาส​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล.

[เชิงอรรถ]

[ภาพ​หน้า 26]

จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: ภาพ​พิมพ์​แกะ​ไม้​เรื่อง​ดานิเอล​ใน​ถ้ำ​สิงโต; ตัว​อักษร​ใหญ่​ต้น​บท​ที่​ปิด​ด้วย​แผ่น​ทองคำ; แบบ​ตัว​พิมพ์​ที่​คม​ชัด​มาก

[ภาพ​หน้า 26]

โคเบอร์เกอร์

[ภาพ​หน้า 26]

ตัว​อย่าง​ลวด​ลาย​ตกแต่ง​ที่​สวย​งาม​และ​หน้า​ที่​มี​เยเนซิศ 1:1 ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​และ​เยอรมัน​ที่​โคเบอร์เกอร์​พิมพ์

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

All Bible photos: Courtesy American Bible Society Library; Koberger: Mit freundlicher Genehmigung der Linotype GmbH