กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นใหม่
สตีฟ aพูดว่า “ผมไม่เคยคิดเลยว่าโจดีจะนอกใจผม. ผมหมดความไว้วางใจในตัวเธอ. การให้อภัยเธอเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่ผมจะอธิบายได้.”
โจดีพูดว่า “ฉันเข้าใจดีว่าทำไมสตีฟเลิกไว้ใจฉัน. ฉันต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าฉันเสียใจจริง ๆ.”
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าสามีหรือภรรยาที่ถูกนอกใจมีสิทธิ์เลือกว่าเขาต้องการหย่าขาดจากคู่สมรสหรือไม่. b (มัดธาย 19:9) สตีฟซึ่งกล่าวถึงตอนต้นตัดสินใจไม่หย่า. ทั้งเขาและโจดีตั้งใจที่จะรักษาสายสมรสเอาไว้. แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาได้เรียนรู้ว่าการรักษาสายสมรสไม่ได้หมายถึงแค่การอยู่ด้วยกันต่อไปเท่านั้น. ทำไม? เพราะจากคำพูดของทั้งคู่จะเห็นได้ว่า เมื่อโจดีนอกใจสามี เธอได้ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่พวกเขามีต่อกันจนหมด. เนื่องจากการไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตสมรสมีความสุข ดังนั้น ทั้งสามีและภรรยาต้องฟื้นฟูความรู้สึกนั้นกลับคืนมาให้ได้.
ถ้าคุณกับคู่ของคุณกำลังพยายามรักษาสายสมรสไว้หลังจากเกิดปัญหาร้ายแรงเช่นที่กล่าวมานี้ คุณคงรู้ดีว่าการทำเช่นนั้นไม่ง่ายเลย. ในช่วงสองสามเดือนแรกหลังจากที่เรื่องถูกเปิดเผย คุณทั้งคู่คงต้องพยายามมากเป็นพิเศษ. แต่คุณจะทำได้แน่นอน! คุณจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร? คำแนะนำที่สุขุมในคัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณได้. ขอพิจารณาข้อแนะสี่ประการต่อไปนี้.
1 พูดความจริงต่อกัน.
อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เมื่อท่านทั้งหลายเลิกพูดมุสาแล้ว ให้พวกท่านแต่ละคนพูดความจริง.” (เอเฟโซส์ 4:25) การโกหก การไม่พูดความจริงทั้งหมด หรือแม้แต่การไม่ปริปากพูดอะไรเลยล้วนบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน. ดังนั้น คุณจำเป็นต้องพูดอย่างเปิดอกและพูดความจริงต่อกัน.
ตอนแรก คุณและคู่ของคุณอาจรู้สึกเจ็บปวดจนไม่อยากเอ่ยถึงเรื่องการนอกใจ. แต่ในที่สุด คุณจำเป็นต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. คุณอาจเลือกที่จะไม่พูดถึงรายละเอียดทุกอย่าง แต่การหลีกเลี่ยงไม่พูดเรื่องนั้นเลยนับว่าไม่ฉลาด. โจดีซึ่งกล่าวถึงตอนต้นบอกว่า “ตอนแรกฉันรู้สึกว่าการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยากมากและน่าอายเหลือเกิน. ฉันรู้สึกเสียใจจริง ๆ จนไม่อยากพูดเรื่องนั้นและอยากลืมเสียให้หมด.” แต่การไม่พูดคุยกันกลับทำให้ปัญหาบานปลาย. เพราะอะไร? สตีฟบอกว่า “การที่โจดีไม่ยอมปริปากพูดเรื่องที่เธอนอกใจผมทำให้ผมระแวงสงสัยเธอตลอดเวลา.” เมื่อย้อนคิดถึงช่วงเวลานั้น โจดียอมรับว่า “การที่ฉันไม่พูดคุยเรื่องนั้นกับสามีทำให้ยากที่เราสองคนจะปรับความเข้าใจกัน.”
แน่นอนว่า การพูดถึงการนอกใจทำให้รู้สึกเจ็บปวด. เดบบีเล่าถึงความรู้สึกตอนที่รู้ว่าพอลสามีของเธอลักลอบเป็นชู้กับเลขานุการ ดังนี้: “ฉันมีคำถามคาใจมากมาย. มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไม? และพวกเขาคุยอะไรกันบ้าง? ฉันแทบเป็นบ้าและครุ่นคิดถึงแต่เรื่องนั้น. และเมื่อเวลาผ่านไป ฉันก็ยิ่งมีคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ.” พอลพูดว่า “เพราะอย่างนี้ผมกับเดบบีจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงบ่อย ๆ. แต่หลังจากนั้นเราจะขอโทษกันเสมอ. การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น.”
คุณจะทำให้การพูดคุยกันไม่ลงเอยด้วยการทะเลาะเบาะแว้งได้อย่างไร? ขอให้จำไว้ว่าเป้าหมายหลักของการพูดคุยกันไม่ใช่เพื่อทำให้คู่ของคุณเจ็บปวด แต่เพื่อเรียนรู้จากเหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้นและเสริมสร้างสายสัมพันธ์ของคุณให้แน่นแฟ้นขึ้น. ตัวอย่างเช่น ชอลซูกับมียองภรรยาของเขาพยายามช่วยกันวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นเหตุให้ชอลซูทำผิด. ชอลซูพูดว่า “ผมพบว่าที่ผ่านมาผมมัวแต่สนใจเรื่องของตัวเอง. นอกจากนั้น ผมยังชอบเอาอกเอาใจคนอื่นมากเกินไป. ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพวกเขาและคอยเอาใจใส่พวกเขา. ผมจึงแทบไม่เหลือเวลาให้ภรรยาเลย.” เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ชอลซูกับมียองก็มองเห็นสิ่งที่พวกเขาทั้งคู่ต้องเปลี่ยนแปลง และในที่สุดพวกเขาก็ฟื้นฟูชีวิตสมรสได้.
ลองวิธีนี้: ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่นอกใจ อย่าพยายามหาข้อแก้ตัวหรือโยนความผิดให้คู่สมรส. คุณต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณทำและความเจ็บปวดที่คุณก่อขึ้น. แต่ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่ถูกนอกใจ อย่าตวาดหรือใช้คำพูดหยาบคายกับคู่สมรส. ถ้าคุณหลีกเลี่ยงคำพูดเช่นนั้น คู่ของคุณก็คงอยากพูดกับคุณอย่างเปิดอกต่อไป.—เอเฟโซส์ 4:32
2 ทำงานเป็นทีม.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สองคนก็ดีกว่าคนเดียว.” ทำไม? “เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับผลของงานดีกว่า. ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง, อีกคนหนึ่งจะได้พยุงยกเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น.” (ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10) หลักการข้อนี้เป็นจริงทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อคุณพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นมาใหม่.
ถ้าคุณทั้งสองร่วมมือกัน คุณจะฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นใหม่ได้อย่างแน่นอน. แต่คุณทั้งคู่ ต้องมุ่งมั่นและพยายามเต็มที่เพื่อรักษาสายสมรสเอาไว้. ถ้าคุณพยายามแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว คุณก็อาจสร้างปัญหาให้ตัวเองมากขึ้นอีก. คุณต้องมองว่าคู่สมรสเป็นเพื่อนร่วมทีมของคุณ.
สตีฟกับโจดีก็คิดเช่นนั้น. โจดีบอกว่า “เรื่องนี้ต้องใช้เวลา แต่ฉันกับสตีฟทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อสร้างสายสมรสของเราให้เข้มแข็ง. ฉันตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำให้สามีเจ็บช้ำน้ำใจอีก. และถึงแม้สตีฟจะเจ็บปวดแต่เขาก็ตั้งใจว่าจะไม่ยอมให้ชีวิตสมรสของเราพังทลาย. แต่ละวันฉันพยายามมองหาวิธีทำให้เขามั่นใจว่าฉันจะซื่อสัตย์ต่อเขา ส่วนเขาเองก็ยังแสดงความรักต่อฉันเสมอ. ฉันซาบซึ้งใจและขอบคุณเขาจริง ๆ.”
ลองวิธีนี้: ตั้งใจแน่วแน่ว่าคุณทั้งคู่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นใหม่.
3 เปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเอง.
หลังจากพระเยซูเตือนผู้ที่ฟังพระองค์ให้ระวังการเล่นชู้ พระองค์ให้คำแนะนำว่า “ถ้าตาขวาของเจ้าเป็นเหตุให้เจ้าหลงผิด จงควักทิ้งเสีย.” (มัดธาย 5:27-29) ถ้าคุณเป็นฝ่ายนอกใจคู่สมรส คุณนึกออกไหมว่ามีนิสัยหรือทัศนะเช่นไรบ้างที่คุณต้องเลิกอย่างเด็ดขาดเพื่อรักษาสายสมรสไว้?
c (สุภาษิต 6:32; 1 โครินท์ 15:33) พอลซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนตารางการทำงานของเขาและเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือเพื่อจะตัดการติดต่อกับผู้หญิงคนนั้น. แม้จะทำเช่นนี้แล้ว เขาก็ยังไม่สามารถเลี่ยงการติดต่อกับผู้หญิงคนนั้นได้อย่างสิ้นเชิง. แต่พอลตั้งใจว่าจะทำให้ภรรยากลับมาเชื่อใจเขาให้ได้ เขาจึงลาออกจากงาน. นอกจากนั้น เขายังเลิกใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองและใช้แต่โทรศัพท์ของภรรยา. การสละความสะดวกสบายเช่นนี้ให้ผลคุ้มค่าไหม? เดบบีภรรยาของเขากล่าวว่า “เรื่องผ่านมาหกปีแล้ว และบางครั้งฉันก็ยังกังวลว่าผู้หญิงคนนั้นจะพยายามติดต่อเขาอีก. แต่ตอนนี้ฉันมั่นใจว่าพอลจะไม่กลับไปยุ่งกับผู้หญิงคนนั้นเด็ดขาด.”
แน่นอนว่า คุณต้องตัดความสัมพันธ์กับชู้รักของคุณ.นอกจากนี้ ถ้าคุณเป็นฝ่ายทำผิด คุณอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยบางอย่างด้วย. ตัวอย่างเช่น คุณอาจเป็นคนที่ชอบหว่านเสน่ห์หรือเจ้าชู้ หรือชอบคิดเพ้อฝันในเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ กับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของคุณ. ถ้าเป็นอย่างนั้น “จงเปลื้องบุคลิกภาพเก่ากับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ของมันทิ้งเสีย.” จงเลิกนิสัยเก่า ๆ และเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้คู่สมรสมั่นใจในตัวคุณมากขึ้น. (โกโลซาย 3:9, 10) การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กทำให้คุณกลายเป็นคนที่แสดงความรักไม่เป็นไหม? ถึงแม้ตอนแรกคุณอาจรู้สึกเคอะเขิน แต่ขอให้คุณแสดงความรักต่อคู่สมรสให้มาก ๆ และพยายามทำให้เขามั่นใจในความรักของคุณ. สตีฟเล่าว่า “โจดีจะแสดงความรักต่อผมบ่อย ๆ ด้วยการเอามือมาจับตัวผม และเธอมักจะบอกผมว่า ‘ฉันรักคุณ.’ ”
ในระยะแรก คุณควรบอกให้คู่สมรสรู้ทุกอย่างว่าแต่ละวันคุณไปที่ไหนและทำอะไรบ้าง. มียองที่กล่าวถึงข้างต้นบอกว่า “ชอลซูถึงกับเล่าให้ฉันฟังหมดทุกอย่างว่าแต่ละวันเกิดอะไรขึ้น เขาเล่าแม้แต่เรื่องสัพเพเหระเพื่อให้ฉันเห็นว่าเขาไม่มีอะไรปิดบังฉัน.”
ลองวิธีนี้: ถามคู่สมรสว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เขากลับมาไว้ใจคุณอีกครั้ง. เขียนสิ่งที่เขาพูดลงในกระดาษและพยายามทำตามนั้น. นอกจากนั้น คุณควรทำกิจกรรมร่วมกันในแต่ละวันให้มากขึ้น.
4 รอเวลาที่เหมาะสม.
อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าถึงเวลาแล้วที่คุณทั้งคู่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนกับว่าปัญหาทุกอย่างคลี่คลายลงแล้ว. สุภาษิต 21:5 (ฉบับ R73) เตือนว่า “ทุกคนที่เร่งร้อนก็มาสู่ความขัดสน.” การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และอาจนานหลายปีทีเดียว.
ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่ถูกนอกใจ คุณต้องให้เวลาตัวเองมากพอเพื่อจะให้อภัยคู่สมรสได้อย่างสนิทใจ. มียองเล่าว่า “ฉันเคยคิดว่าเป็นเรื่องแปลกมากที่ภรรยาไม่ยอมให้อภัยสามีที่ไม่ซื่อสัตย์. ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเธอถึงโกรธสามีนานขนาดนั้น. แต่เมื่อเจอเข้ากับตัวเอง ฉันก็เข้าใจแล้วว่าทำไมการให้อภัยจึงเป็นเรื่องยาก.” การให้อภัยและการเชื่อใจกันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในเวลาสั้น ๆ.
อย่างไรก็ตาม ท่านผู้ประกาศ 3:1-3 กล่าวว่ามี “วาระสำหรับเยียวยา.” ตอนแรก คุณอาจคิดว่าการไม่ปริปากบอกคู่สมรสว่าคุณรู้สึกอย่างไรเป็นวิธีที่ดีที่สุด. แต่วิธีนี้จะไม่ช่วยให้คุณกลับมาไว้ใจคู่ของคุณได้อีก. เพื่อเยียวยาความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน คุณต้องให้อภัยคู่สมรสและแสดงให้เห็นว่าคุณยกโทษให้เขาแล้ว โดยพูดคุยและเปิดเผยความรู้สึกของคุณกับเขาเหมือนเดิม. นอกจากนั้น คุณควรถามเขาว่ารู้สึกกังวลอะไรไหมหรือมีเรื่องที่น่ายินดีอะไรบ้าง.
อย่าจมปลักอยู่กับความขมขื่น. คุณต้องเอาชนะความรู้สึกนั้นให้ได้. (เอเฟโซส์ 4:32) คุณอาจพบว่าการใคร่ครวญตัวอย่างของพระเจ้าเป็นประโยชน์สำหรับคุณ. พระเจ้าทรงปวดร้าวพระทัยเมื่อประชาชนของพระองค์ในอิสราเอลโบราณละทิ้งพระองค์. พระยะโฮวาทรงถึงกับเปรียบพระองค์เป็นเหมือนสามีที่ถูกภรรยานอกใจ. (ยิระมะยา 3:8, 9; 9:2) แต่พระองค์ “ไม่เก็บ (ความโกรธ) เป็นนิตย์.” (ยิระมะยา 3:12) เมื่อประชาชนของพระองค์กลับมาหาพระองค์และแสดงการกลับใจอย่างแท้จริง พระเจ้าก็ทรงให้อภัยพวกเขา.
ในที่สุด เมื่อคุณทั้งคู่พอใจกับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คุณก็จะรู้สึกว่าชีวิตสมรสของคุณมั่นคง. เมื่อถึงตอนนั้น แทนที่จะสนใจเพียงว่าจะรักษาสายสมรสไว้ได้อย่างไร คุณจะสามารถตั้งเป้าหมายอื่น ๆ ร่วมกันได้ด้วย. ถึงกระนั้น คุณก็ยังต้องประเมินเป็นระยะ ๆ ว่าความสัมพันธ์ของคุณก้าวหน้าไปถึงขั้นไหน. อย่าคิดว่าแค่นี้ก็ดีแล้ว. ถ้าบางครั้งคุณไม่สามารถทำได้อย่างที่หวังไว้ก็อย่าเพิ่งท้อ และขอให้คุณทั้งคู่พยายามทำตามความตั้งใจของคุณต่อไป.—ลองวิธีนี้: แทนที่จะคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตสมรสกลับไปเป็นเหมือนแต่ก่อน ขอให้คุณพยายามสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นใหม่ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม.
คุณสามารถทำได้
ถ้าบางครั้งคุณรู้สึกไม่แน่ใจว่าความพยายามของคุณจะสำเร็จผลหรือไม่ ขอให้จำไว้ว่า พระเจ้าเป็นผู้ก่อตั้งการสมรส. (มัดธาย 19:4-6) ดังนั้น ชีวิตสมรสของคุณจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์. คู่สมรสทุกคู่ที่กล่าวถึงในบทความนี้ได้ใช้คำแนะนำที่สุขุมจากคัมภีร์ไบเบิลและสามารถรักษาสายสมรสของพวกเขาเอาไว้ได้.
เวลาผ่านมามากกว่า 20 ปีแล้วตั้งแต่ที่สตีฟกับโจดีมีปัญหาที่เกือบทำให้ชีวิตสมรสพังทลาย. สตีฟพูดถึงช่วงที่พวกเขาพยายามกลับมาคืนดีกันดังนี้: “ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่เราเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. การช่วยเหลือที่เราได้รับมีค่าเกินกว่าจะประเมินได้. ในที่สุด เราก็ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้.” โจดีบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าเป็นพระพรจริง ๆ ที่เราสามารถอดทนจนฟันฝ่าช่วงวิกฤตินั้น. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันและการทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ทำให้ตอนนี้เรามีชีวิตสมรสที่มีความสุขมากจริง ๆ.”
a ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
b สำหรับคำแนะนำที่ช่วยตัดสินใจในเรื่องนี้ โปรดดูตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 1999 หน้า 6 และฉบับ 8 สิงหาคม 1995 หน้า 10 และ 11.
c ถ้าบางครั้งการติดต่อกันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ (เช่น ในที่ทำงาน) ก็ควรพูดคุยกันเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้นและในที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย. นอกจากนั้น คุณควรบอกให้คู่สมรสรู้ทุกครั้งที่ติดต่อพูดคุยกับคนนั้น.
ถามตัวเองว่า . . .
-
อะไรคือเหตุผลที่ฉันต้องการรักษาชีวิตสมรสเอาไว้แม้ว่าคู่สมรสจะนอกใจฉัน?
-
ตอนนี้ฉันเห็นคุณลักษณะที่ดีอะไรบ้างในตัวคู่สมรส?
-
ตอนที่เริ่มคบกัน ฉันทำอะไรบ้างเพื่อให้คู่ของฉันรู้ว่าฉันรักเขา และตอนนี้ฉันจะทำอย่างนั้นอีกได้ไหม?