กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
วิธีจัดการกับหนี้
ยานนิสพูดว่า * “ธุรกิจของผมขาดทุนย่อยยับในช่วงที่กรีซประสบวิกฤติทางการเงิน เราจึงไม่มีเงินผ่อนบ้านและจ่ายหนี้บัตรเครดิต. ผมเครียดมากจนนอนไม่หลับ.”
คาเทอรีนาพูดว่า “เราสร้างบ้านของเรามาด้วยความรัก ฉันคงทนไม่ได้ถ้าต้องเสียมันไป. ฉันกับยานนิสทะเลาะกันหลายครั้งเพราะไม่รู้จะจัดการกับหนี้สินอย่างไร.”
หนี้สินทำให้เกิดความเครียดหรือถึงกับทำให้ครอบครัวแตกแยกด้วยซ้ำ. ตัวอย่างเช่น นักวิจัยชื่อเจฟฟรีย์ ดิวพบว่า คู่สามีภรรยาที่มีหนี้สินมักไม่มีเวลาให้กัน มีปากเสียงกันบ่อย ๆ และไม่ค่อยมีความสุข. เมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ การทะเลาะกันเรื่องเงินและหนี้สินมักจะยืดเยื้อกว่า มีการด่าทอและทุบตีกันมากกว่า และมักจะลุกลามไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย. ดังนั้น ไม่แปลกที่เรื่องเงินกลายเป็นปัญหาที่ทำให้คู่สมรสในสหรัฐหย่าร้างกันมากที่สุด.
นอกจากนี้ หนี้สินที่พอกพูนยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นโรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า. ภรรยาคนหนึ่งชื่อมาร์ทาเล่าว่า “ลูอิส สามีของฉันซึมเศร้าอย่างหนักเพราะปัญหาเรื่องหนี้และเอาแต่นอนแทบทั้งวัน. ผู้ชายที่ฉันเคยหวังพึ่งได้เสมอกลายเป็นคนที่ช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย.” บางคนไม่สามารถทนรับความเครียดเพราะหนี้สินได้. ตัวอย่างเช่น สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ภรรยาคนหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียฆ่าตัวตายหลังจากไม่สามารถหาเงินไปใช้หนี้ที่เธอกู้ยืมมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลลูก ๆ ซึ่งรวมเป็นเงินประมาณ 26,000 บาท.
คุณจะทำอย่างไรถ้าครอบครัวของคุณกำลังเครียดเพราะปัญหาหนี้สิน? ให้เรามาดูว่าคู่สมรสที่มีหนี้สินมักจะพบปัญหาอะไรบ้าง และหลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยคุณรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร.
ปัญหา 1: เราโทษกันไปโทษกันมา.
ลูลัชยอมรับว่า “ผมโทษภรรยาว่าชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ส่วนเธอก็บ่นว่าเราคงมีเงินพอใช้ถ้าผมมีงานที่ทำได้ตลอดทั้งปี.” คู่สมรสจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้สินมาทำให้พวกเขาหมางเมินกัน?
เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: ร่วมมือกันจัดการกับหนี้.
การระเบิดอารมณ์ใส่คู่สมรสไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แม้ว่าคุณไม่ได้เป็นฝ่ายก่อหนี้ก็ตาม. ในสถานการณ์เช่นนี้ นับว่าเหมาะอย่างยิ่งที่จะคิดถึงคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่เอเฟโซส์ 4:31 ซึ่งกล่าวว่า “ให้ท่านทั้งหลายขจัดความขุ่นแค้น ความโกรธ การเดือดดาล การตวาด และการพูดหยาบหยามออกไปเสียให้หมดพร้อมกับการชั่วทั้งปวง.”
จงสู้กับปัญหา ไม่ใช่สู้กันเอง. สเตฟาโนส สามีคนหนึ่งเล่าถึงวิธีที่เขากับภรรยาร่วมมือกันแก้ปัญหาดังนี้: “เรามองว่าหนี้เป็นศัตรูของเราทั้งคู่.” การร่วมมือกันเช่นนั้นสอดคล้องกับคำแนะนำในสุภาษิต 13:10 (ฉบับคิงเจมส์) ที่ว่า “เพราะความทะนงตัวเท่านั้นการวิวาทจึงเกิดขึ้น แต่ปัญญาอยู่กับบรรดาผู้ที่รับคำแนะนำ.” แทนที่จะทะนงตัวว่าคุณสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้ด้วยตัวเอง นับว่าดีกว่าที่จะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาและช่วยกันแก้ปัญหานั้น.
ลูก ๆ ของคุณก็มีส่วนช่วยได้. พ่อคนหนึ่งชื่อเอ็ดการ์โดในอาร์เจนตินาเล่าประสบการณ์ในครอบครัวของเขาว่า “ลูกชายของผมอยากได้จักรยานคันใหม่ แต่เราอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมตอนนี้เรายังซื้อให้ไม่ได้. เรายกจักรยานของคุณปู่ให้เขาและเขาก็ชอบมันมาก. ผมได้เห็นว่าการที่เราทั้งครอบครัวร่วมมือกันแก้ปัญหาก่อผลดีจริง ๆ.”
ลองวิธีนี้: จัดเวลาไว้ปรึกษาพูดคุยกันเรื่องหนี้อย่างเปิดอกและใจเย็น ๆ. จงยอมรับความผิดพลาดใด ๆ ก็ตามที่คุณทำไว้. แทนที่จะคิดถึงเรื่องเก่า ๆ ให้ตกลงกันว่าคุณจะใช้หลักการอะไรถ้ามีปัญหาเรื่องเงินอีกในวันข้างหน้า.—บทเพลงสรรเสริญ 37:21; ลูกา 12:15
ปัญหา 2: เราคงไม่มีทางใช้หนี้ได้หมด.
เอ็นริเกเล่าว่า “ผมเป็นหนี้ก้อนโตเพราะธุรกิจของผม และเมื่อเกิดวิกฤติด้านการเงินในอาร์เจนตินา ผมก็ยิ่งแย่. แล้วภรรยาผมยังต้องผ่าตัดอีก. ผมคิดว่าคงไม่มีทางปลดหนี้ได้. ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ในใยแมงมุม.” โรเบร์ตูในบราซิลสูญเสียเงินสะสมทั้งหมดไปกับการทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นหนี้ธนาคารถึง 12 แห่ง. เขากล่าวว่า “ผมอับอายจนแทบไม่กล้าสู้หน้าเพื่อน ๆ. ผมรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว.”
คุณจะทำอย่างไรถ้ารู้สึกผิด ท้อแท้ หรืออับอายเพราะมีหนี้ท่วมตัว?
เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: ควบคุมการใช้จ่าย. *
1. กำหนดงบประมาณของแต่ละเดือน. จดบันทึกรายรับรายจ่ายทั้งหมดของครอบครัวในช่วงสองสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน ขึ้นอยู่กับว่ารายได้ของคุณเป็นแบบไหน. ลงบันทึกเกี่ยวกับค่าภาษี ค่าประกันภัย หรือค่าเสื้อผ้า ซึ่งอาจไม่ใช่รายการที่ต้องจ่ายบ่อย ๆ และเฉลี่ยออกมาเป็นรายเดือน.
2. หารายได้เพิ่ม. คุณอาจทำงานล่วงเวลาหรือทำอาชีพเสริม เช่น สอนพิเศษ ทำขนมขาย รับจ้างซักรีด หรือเก็บของเก่าขาย. คำเตือน: ระวังอย่าให้งานอาชีพมาเบียดบังกิจกรรมที่สำคัญกว่า เช่น กิจวัตรของคริสเตียน.
3. ลดรายจ่าย. ซื้อเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้นแทนที่จะซื้อเพราะลดราคา. (สุภาษิต 21:5) เอ็นริเกซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “วิธีที่ฉลาดคืออย่าเพิ่งรีบซื้อ เพื่อคุณจะมีเวลาตัดสินใจว่าจำเป็นต้องมีของชิ้นนั้นจริง ๆ หรือแค่อยากได้เท่านั้น.” ต่อไปนี้เป็นข้อแนะเพิ่มเติม.
-
บ้าน: ถ้าเป็นได้คุณอาจย้ายไปอยู่บ้านที่ค่าเช่าถูกกว่า. ลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านโดยช่วยกันประหยัดน้ำ ไฟ และลดการใช้เครื่องปรับอากาศ.
-
อาหาร: เมื่อออกไปข้างนอก คุณอาจเตรียมอาหารกลางวันหรือขนมไปด้วย แทนที่จะกินอาหารนอกบ้านเป็นประจำ. ใช้คูปองลดราคาหรือโปรโมชั่นอื่น ๆ เมื่อซื้อของในซูเปอร์มาร์เกต. โชลมาในบราซิลบอกว่า “ฉันประหยัดเงินไปได้เยอะเมื่อซื้อผักผลไม้ในช่วงก่อนที่ตลาดจะวาย.”
-
การเดินทาง: ขายรถหรือพาหนะที่คุณไม่ได้ใช้และดูแลรักษารถของคุณให้อยู่ในสภาพดีเสมอ แทนที่จะรีบเปลี่ยนไปใช้รุ่นใหม่ ๆ. ใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือเดินถ้าไม่ไกลเกินไป.
หลังจากลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว ตอนนี้คุณก็มีเงินมากขึ้นและสามารถเก็บไว้ใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็น.
4. ตรวจดูหนี้สินทั้งหมดและลงมือปลดหนี้. ก่อนอื่น ขอให้ดูว่าหนี้แต่ละอย่างมีดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมเท่าไร และถ้าจ่ายช้าหรือไม่ได้จ่ายคุณต้องเสียเพิ่มเดือนละเท่าไร. อ่านสัญญาเงินกู้หรือใบเสร็จรับเงินให้ละเอียด เพราะเจ้าหนี้บางรายอาจเล่นไม่ซื่อกับคุณ. ตัวอย่างเช่น บริษัทสินเชื่อแห่งหนึ่งในสหรัฐโฆษณาว่าปล่อยเงินกู้ระยะสั้นในอัตราดอกเบี้ย 24 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่จริงแล้วคิดดอกเบี้ยสูงถึง 400 เปอร์เซ็นต์.
จากนั้น ตัดสินใจว่าจะใช้หนี้รายใดตามลำดับก่อนหลัง. วิธีหนึ่งคือคุณอาจชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน. อีกวิธีหนึ่งคือเลือกชำระหนี้รายการย่อย ๆ ก่อน เพราะเมื่อคุณได้รับใบแจ้งหนี้น้อยลงในแต่ละเดือนคุณก็คงจะมีกำลังใจมากขึ้น. ถ้าเงินกู้ของคุณมีอัตราดอกเบี้ยสูง คุณอาจขอกู้เงินจากอีกแหล่งหนึ่งที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อเอาเงินนั้นมาจ่ายหนี้ของคุณ.
ถ้าคุณไม่สามารถชำระหนี้ได้ วิธีสุดท้ายก็คือ พยายามเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอประนอมหนี้. คุณอาจขอยืดเวลาชำระหนี้หรือขอลดอัตราดอกเบี้ย. เจ้าหนี้บางรายอาจยอมลดหนี้ถ้าคุณสามารถจ่ายเงินก้อนให้เขาได้ในตอนนี้แม้จะไม่เต็มจำนวนที่คุณเป็นหนี้ก็ตาม. จงซื่อสัตย์และแสดงมารยาทที่ดีเสมอเมื่ออธิบายเกี่ยวกับสภาพการเงินของคุณ. (โกโลซาย 4:6; ฮีบรู 13:18) ทำข้อตกลงทุกอย่างให้เป็นลายลักษณ์อักษร. ถ้าการเจรจาครั้งแรกไม่สำเร็จ จงพยายามต่อ ๆ ไปและอย่ากลัวที่จะขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใด ๆ ที่คุณเห็นว่าจำเป็น.—สุภาษิต 6:1-5
แน่ล่ะ คุณต้องมองตามความเป็นจริงเมื่อจัดการกับหนี้สิน. แม้จะวางแผนอย่างรัดกุมที่สุดแล้วคุณก็อาจล้มเหลวได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่อยู่เหนือการควบคุมของคุณ และเงินก็มักจะ ‘มีปีก มันจะบินหายไปในท้องฟ้าเหมือนนกอินทรี.’—สุภาษิต 23:4, 5
ลองวิธีนี้: เมื่อคุณทำงบประมาณขั้นต้นแล้ว ให้ปรึกษากันในครอบครัวว่าแต่ละคนจะลดรายจ่ายของตัวเองหรือเพิ่มรายรับของครอบครัวได้อย่างไร. การได้เห็นสมาชิกในครอบครัวยอมเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว อาจทำให้คุณมีกำลังใจมากขึ้นที่จะร่วมมือกันต่อสู้เพื่อปลดหนี้.
ปัญหา 3: เราคิดถึงแต่เรื่องหนี้.
การดิ้นรนเพื่อหาวิธีปลดหนี้อาจทำให้เราไม่คิดถึงเรื่องอื่นในชีวิตที่สำคัญกว่า. ชายคนหนึ่งชื่อเยียร์ยอสกล่าวว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดคือทุกเรื่องในชีวิตของเราวนเวียนอยู่กับหนี้. เรื่องที่เราควรให้ความสำคัญกลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ.”
เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ: จัดให้เรื่องเงินอยู่ในอันดับที่ถูกต้อง.
แม้คุณจะพยายามเต็มที่แล้วแต่ก็อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะใช้หนี้หมด. ในระหว่างนี้ คุณต้องเลือกว่าจะมองสถานการณ์ของคุณอย่างไร. แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเงินหรือวิตกว่าไม่มีเงิน เราน่าจะทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “เมื่อเรามีเครื่องอุปโภคบริโภคและที่อยู่อาศัย เราควรอิ่มใจกับสิ่งเหล่านี้.”—1 ติโมเธียว 6:8
ถ้าคุณอิ่มใจพอใจกับฐานะทางการเงินของคุณในตอนนี้ คุณก็จะมีเวลา “ตรวจดูให้แน่ใจว่าสิ่งไหนสำคัญกว่า.” (ฟิลิปปอย 1:10) สิ่งที่ “สำคัญกว่า” รวมถึงการมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าและกับคนในครอบครัว. เยียร์ยอสที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “แม้ว่าเรายังไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ แต่หนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิตของเราอีกต่อไป. เดี๋ยวนี้ผมกับภรรยามีความสุขยิ่งกว่าแต่ก่อน เพราะเรามีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น มีเวลาให้กันมากขึ้น และมีเวลาทำกิจกรรมคริสเตียนด้วยกันมากขึ้น.”
ลองวิธีนี้: เขียนสิ่งที่มีค่าสำหรับคุณจริง ๆ ซึ่งเงินไม่สามารถซื้อได้. จากนั้น คิดดูว่าคุณจะใช้เวลาและ กำลังกับสิ่งเหล่านั้นให้มากขึ้นได้อย่างไร.
ปัญหาหนี้สินทำให้เกิดความเครียดและการจัดการกับปัญหานี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่ผลที่ได้นั้นคุ้มค่า. อันเจ สามีคนหนึ่งในโปแลนด์ยอมรับว่า “พอผมรู้ว่าภรรยาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหญ่ให้เพื่อนร่วมงานและเพื่อนคนนั้นก็หนีหนี้ไป บรรยากาศในบ้านของเราตึงเครียดมากจนผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร.” แต่เมื่อย้อนคิดถึงวิธีที่เขากับภรรยารับมือกับปัญหานี้ เขากล่าวว่า “เรารักใคร่กลมเกลียวกันมากขึ้น ไม่ใช่เพราะปัญหาที่เราเจอ แต่เพราะเราร่วมมือกันจนแก้ปัญหาได้สำเร็จ.”
^ วรรค 3 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 17 สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม โปรดดูบทความชุดเรื่อง “วิธีบริหารเงิน” ในตื่นเถิด! ฉบับกันยายน 2011 ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
ถามตัวเองว่า . . .
-
ฉันจะช่วยครอบครัวปลดหนี้ได้อย่างไร?
-
เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หนี้สินกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตหรือถึงกับทำลายสายสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา?