เขียนโดยยอห์น 9:1-41
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
กลางคืนกำลังจะมา: บางครั้งคัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่า “กลางคืน” ในความหมายเป็นนัย ในข้อนี้พระเยซูใช้คำนี้เพื่อหมายถึงช่วงเวลาที่ท่านจะถูกพิจารณาคดี ถูกประหาร และตาย ซึ่งตอนนั้นท่านไม่สามารถทำงานของพระเจ้าผู้เป็นพ่อได้—โยบ 10:21, 22; ปญจ 9:10; เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:53
น้ำลาย: คัมภีร์ไบเบิลพูดถึง 3 เหตุการณ์ที่พระเยซูใช้น้ำลายตอนที่รักษาโรคอย่างอัศจรรย์ (มก 7:31-37; 8:22-26; ยน 9:1-7) ปกติแล้วชาวบ้านในสมัยนั้นใช้น้ำลายเพื่อรักษาโรคแบบพื้นบ้าน แต่การอัศจรรย์ของพระเยซูเกิดจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า ดังนั้น น้ำลายของพระเยซูไม่ได้ช่วยให้หายโรค ท่านบอกผู้ชายที่ตาบอดตั้งแต่เกิดว่า “ไปล้างโคลนออกที่สระสิโลอัมเถอะ” แล้วหลังจากนั้นเขาถึงจะมองเห็น (ยน 9:7) นี่ต้องเป็นการทดสอบความเชื่อของผู้ชายคนนี้แน่ ๆ เหมือนที่นาอามานต้องไปจุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดนเขาถึงจะหายจากโรคเรื้อน—2พก 5:10-14
สระสิโลอัม: มีการพบซากสระน้ำแห่งหนึ่งที่สร้างในศตวรรษแรกทางทิศใต้ของภูเขาที่วิหารตั้งอยู่ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นสระสิโลอัม ซากนี้ตั้งอยู่ตรงฐานของเนินเขาที่เมืองเก่าถูกสร้างขึ้นครั้งแรก ใกล้กับจุดที่หุบเขาไทโรพีโอนตัดกับหุบเขาขิดโรน (ดูภาคผนวก ข12 ) ชื่อสิโลอัมเป็นชื่อภาษากรีกซึ่งตรงกับชื่อฮีบรู “ชิโลอาห์” ที่เกี่ยวข้องกับคำกริยาฮีบรู ชาลัค ซึ่งแปลว่า “ส่งออกไป” ยอห์นจึงแปลชื่อสิโลอัมว่าพุ่งออกมา และที่ อสย 8:6 บอกว่าชิโลอาห์เป็นทางหรือคลองที่ส่งน้ำไปทั่วกรุงเยรูซาเล็มและในข้อนี้ฉบับเซปตัวจินต์ ใช้ชื่อกรีกว่าสิโลอัม น้ำในสระสิโลอัมมาจากน้ำพุกีโฮนซึ่งมีน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ชื่อสิโลอัมอาจมาจากลักษณะการพุ่งของน้ำแบบนี้
เขาโตแล้ว: หรือ “เขาโตพอแล้ว” สำนวนนี้อาจหมายถึงคนที่มีอายุมากพอที่จะเป็นทหารตามกฎหมายของโมเสส ซึ่งก็คือมีอายุ 20 ปี (กดว 1:3) นี่สอดคล้องกับข้อคัมภีร์ที่เรียกเขาว่า “ผู้ชายคนหนึ่ง” (ยน 9:1) ไม่ใช่เด็ก นอกจากนั้น เขายังเคยเป็นขอทานด้วย (ยน 9:8) บางคนมองว่าสำนวนนี้หมายถึงคนที่บรรลุนิติภาวะแล้วตามมุมมองของสังคมชาวยิว ซึ่งก็คือมีอายุ 13 ปี
ถูกไล่ออกจากที่ประชุมของชาวยิว: หรือ “ถูกขับไล่, ถูกห้ามไม่ให้เข้าที่ประชุมของชาวยิว” มีการใช้คำคุณศัพท์กรีก อาพอสูนาโกกอส แค่ในข้อนี้และที่ ยน 12:42 และ 16:2 คนที่ถูกไล่ออกจากที่ประชุมของชาวยิวจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและถูกสังคมรังเกียจ ใครที่ถูกตัดขาดแบบนี้คงจะลำบากและยากจนมาก ปกติแล้วที่ประชุมของชาวยิวเป็นที่ที่ใช้สำหรับการเรียนรู้เรื่องพระเจ้า แต่บางครั้งก็ใช้เป็นศาลท้องถิ่นด้วย ศาลเหล่านี้มีอำนาจตัดสินลงโทษโดยการเฆี่ยนและขับไล่ออกจากชุมชน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:17
บอกความจริงมาต่อหน้าพระเจ้า: แปลตรงตัวว่า “ให้เกียรติพระเจ้าเถอะ” มีการใช้สำนวนนี้เพื่อให้ใครคนหนึ่งพูดความจริงออกมา ความหมายของสำนวนนี้จริง ๆ แล้วก็คือ “จงแสดงความนับถือพระเจ้าโดยบอกความจริงมา”—เทียบกับ ยชว 7:19
คำนับ: หรือ “ทำความเคารพ, หมอบลง” เมื่อใช้คำกริยากรีก พะรอสคูเนะโอ กับพระหรือเทพเจ้า ก็จะแปลคำนี้ว่า “นมัสการ” (มธ 4:10; ลก 4:8) แต่ในท้องเรื่องนี้ ผู้ชายตาบอดตั้งแต่เกิดที่พระเยซูรักษาให้หายได้ทำความเคารพท่านเพราะเขายอมรับว่าพระเยซูเป็นตัวแทนของพระเจ้า เขาไม่ได้คิดว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าหรือเทพเจ้า แต่เป็น “ลูกมนุษย์” หรือเมสสิยาห์ที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้าตามที่พยากรณ์ไว้ (ยน 9:35) เมื่อเขาก้มลงคำนับพระเยซู เขาก็ทำคล้าย ๆ กับผู้คนในสมัยพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่คำนับหรือทำความเคารพเมื่อพวกเขาเจอผู้พยากรณ์ กษัตริย์ หรือคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า (1ซม 25:23, 24; 2ซม 14:4-7; 1พก 1:16; 2พก 4:36, 37) หลายครั้งผู้คนจะแสดงความเคารพหรือคำนับพระเยซู เพื่อขอบคุณที่พวกเขาได้เห็นการเปิดเผยจากพระเจ้าหรือได้เห็นว่าพระเจ้าเมตตาพวกเขา—มธ 14:32, 33; 28:5-10, 16-18; ลก 24:50-52; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 14:33; 15:25 ด้วย
วีดีโอและรูปภาพ
เคยเชื่อกันว่าที่ตั้งของสระสิโลอัมอยู่ที่สระเล็ก ๆ ในกรุงเยรูซาเล็มที่มีชื่อว่าเบอร์เก็ต ซิลวาน อย่างไรก็ตาม ในปี 2004 มีการพบซากสระที่ใหญ่กว่ามากห่างจากสระเล็ก ๆ นั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ถึง 100 เมตร และตอนที่มีการขุดซากสระนี้ก็พบเหรียญต่าง ๆ ที่ทำขึ้นช่วงที่ชาวยิวกบฏต่อโรม (ระหว่างปี ค.ศ. 66-70) ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่ามีการใช้สระนี้จนถึงตอนที่กองทัพโรมันมาทำลายกรุงเยรูซาเล็ม ตอนนี้ผู้คนจึงเชื่อว่าสระที่ใหญ่กว่าคือสระสิโลอัมที่พูดถึงใน ยน 9:7 และอย่างที่เห็นในภาพ สระนี้มีบันไดและมีชานพักเป็นช่วง ๆ ลงไปจนถึงก้นสระ (ตอนนี้มีแต่ดินและต้นไม้) ซึ่งช่วยให้ผู้คนเดินลงไปได้ไม่ว่าระดับน้ำจะสูงขนาดไหนก็ตาม
1. สระสิโลอัม
2. ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่